Pi Daily ธนาคารกลางสหรัฐฯส่งสัญญาณเข้มงวด บาทอ่อนค่า ทองคำปรับลง หุ้นไทยเริ่มถูกแต่ยังไม่มีปัจจัยหนุนปรับขึ้น จึงยังไม่เร่งร้อนเข้าลงทุนเช่นเดิม

30

มิติหุ้น – ตลาดหุ้น Dow Jones เมื่อคืนปิดลบ 1123 จุด (-2.6%) หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯปรับลดดอกเบี้ย 0.25% แต่ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยน้อยลงกว่าประมาณการเดิม ด้านราคาน้ำมันดิบ BRT ปิดบวก 0.27% หลังสหรัฐฯรายงานสต็อกน้ำมันดิบลดลงในสัปดาห์ก่อน

เมื่อคืนที่ผ่านมาธนาคารกลางสหรัฐฯได้ปรับลดดอกเบี้ย 0.25% เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ แต่ Dot Plot หรือคาดการณ์ดอกเบี้ยในอนาคตของธนาคารกลางสหรัฐฯในปี 25 ลดลงเหลือเพียง 2 ครั้ง (ปรับลดดอกเบี้ยอีก 0.5%) ลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่ 4 ครั้ง ด้านตัวเลขเศรษฐกิจปรับเพิ่มการขยายตัวทางเศรษฐกิจขึ้นเป็น 2.1%YoY ในปี 25 จากเดิมที่ 2%YoY และปรับเงินเฟ้อ (PCE) ในปี 25 ขึ้นเป็น 2.5%YoY จากเดิมที่ 2.1%YoY พร้อมกับ Core PCE ที่ 2.5%YoY จากเดิมที่ 2.2%YoY สะท้อนมุมมองที่เข้มงวดมากขึ้นเกี่ยวกับเงินเฟ้อ ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีและราคาสินค้าที่อาจเร่งขึ้นจากฝั่งอุปทานตามการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของ Trump ด้วยแนวโน้มนโยบายการเงินที่ดูเข้มงวดมากขึ้นได้กดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯทั้งรุ่นอายุ 2 , 10 ปี ปรับขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ พร้อมกับการแข็งค่าของ Dollar Index และกดดันเงินบาทอ่อนค่าทดสอบระดับ 34.5 บาท / ดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะกดดันกระแสเงินทุนต่อเนื่องกลับมากดดัน SET INDEX ความเห็นจาก CME FED Watch ล่าสุด กลับมาให้น้ำหนัก FED คงดอกเบี้ยจนถึงการประชุม มิ.ย. ปี 25 ปัจจัยเช่นนี้สร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้นฝั่ง EM และสินทรัพย์ต่างๆรวมถึง BITCOIN ส่วนในประเทศเมื่อวานที่ผ่านมาที่ประชุม กนง. มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ย โดยเศรษฐกิจไทยเผชิญความท้าทายจากการแข่งขันภายนอกที่รุนแรงมากขึ้น รวมไปถึงความไม่แน่นอนระยะข้างหน้าที่สูงขึ้นจากนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก แต่ยังสามารถขยายตัวได้ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้เพราะแรงหนุนหลักจากภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวแต่ภาคอุตสาหกรรมยังฟื้นตัวได้ช้า โดยเฉพาะกลุ่มที่ถูกกดดันจากความสามารถแข่งขันที่ลดลง คณะกรรมการเห็นควรให้คงดอกเบี้ยเพราะมองว่าดอกเบี้ยปัจจุบันสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกับศักยภาพ วันนี้ประเมิน SET INDEX ปรับลงในกรอบ 1385 – 1400 เชิงกลยุทธ์การลงทุนยังคงไม่เพิ่มพอร์ตการลงทุนเช่นเดิม เพราะยังไม่เห็นปัจจัยหนุนตลาดหุ้นอย่างมีนัยยะสำคัญถึงแม้ว่า Valuation จะถูกก็ตาม อย่างไรก็ตามสำหรับนักลงทุนรับความเสี่ยงได้สูงแนะนำเพียงกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (BBL KBANK KTB SCB) ปัจจัยหนุนจากดอกเบี้ยปรับลงน้อย รวมไปถึงกลุ่มส่งออก (ITC TU) ปัจจัยหนุนเงินบาทอ่อนค่า

TU (ซื้อ / ราคาเป้าหมาย 17.6 บาท)
เป้าหมายสำคัญของ2 กลยุทธ์คือเมื่อเทียบกับปี 24 คือ 1.รายได้ที่ระดับ 7,000 ล้านเหรียญฯ แบ่งเป็นการเติบโตจากธุรกิจเดิมประมาณ 6,000 ล้านเหรียญฯและการเข้าซื้อกิจการ (M&A) อีกประมาณ 1,000 ล้านเหรียญฯ (ทั้งจาก TU และ ITC) จากประมาณ 3,900 ล้านเหรียญฯ 2.การเพิ่มสัดส่วนยอดขายธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงและธุรกิจผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าเป็น 25-30% จาก 15%3.เพิ่มกำไรขั้นต้นเป็น 21-23% จาก 19%

BBL (ซื้อ / ราคาเป้าหมาย 168.00 บาท)
คาดว่ากำไรสุทธิจะเติบโตชะลอตัวที่ 2%/4.3% ในปี 2025-26 ด้าน ROE ปรับลดลงที่ 7.9%/7.8% ในปี 2025-26 จาก 8.1% ในปี 2024 และคาดอัตราผลตอบแทนเงินปันผลสูง 5.3-5.6% ในปี 2024-26 ด้านแนวโน้มผลการดำเนินงานใน 4Q เราคาดกำไรจะลดลง QoQ จากปัจจัยฤดูกาลที่ค่าใช้จ่ายการดำเนินงานเพิ่มขึ้น และรายได้ดอกดเบี้ยลดลง แต่กำไรจะปรับสูงขึ้น YoY จากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเป็นหลัก

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon