มิติหุ้น – พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นประธานการประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานทางเทคนิคของเครื่องส่งและเครื่องรับวิทยุกระจายเสียงระบบดิจิทัล รวมทั้งเพื่อให้ผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเข้าใจแนวทางปฏิบัติและข้อกำหนดตามประกาศดังกล่าว หลังจากที่ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2567
ที่ผ่านมา
พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ฯ กล่าวว่า มาตรฐานทางเทคนิคดังกล่าวเป็นการกำหนดทั้งเครื่องส่งและเครื่องรับวิทยุกระจายเสียงระบบดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี Digital Audio Broadcasting (DAB) ที่มีการเข้ารหัสสัญญาณเสียงแบบ MPEG-4 High Efficiency Advanced Audio Coding Version 2 (MPEG-4 HE AAC v2) หรือที่เรียกว่า DAB+ Audioซึ่งเป็นการเผยแพร่สัญญาณเสียงภาคพื้นดิน (On Air) ด้วยระบบดิจิทัล นอกเหนือจากการมีคุณภาพเสียงที่คมชัด รับฟังได้โดยไม่มีสัญญาณรบกวนแล้ว ยังมีฟังก์ชั่นเสริม เช่น ตัวอักษรวิ่ง (Text Scrolling), แสดงภาพนิ่ง (Slide Show), ผังรายการอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Program Guide: EPG), ข้อมูลจราจรและการเดินทาง (TPEG) และที่สำคัญสามารถนำมาใช้เป็นระบบแจ้งเตือนภัย (Emergency Warning System: EWS) ได้ โดยที่หากสามารถสร้างโครงข่ายวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิทัลได้ครอบคลุมทั่วประเทศแล้ว จะทำให้สามารถรับฟังรายการได้อย่างต่อเนื่องและได้รับการแจ้งเตือนได้ด้วยเนื้อหาเดียวกันทั่วประเทศ หรือ กำหนดการกระจายเสียงให้เป็นระดับชาติ ภูมิภาค หรือ ท้องถิ่น ได้อย่างแท้จริง
ระบบนิเวศของวิทยุกระจายเสียงระบบดิจิทัลนั้นจะแยกผู้ประกอบการที่เป็นโครงข่ายออกจากผู้ประกอบการที่เป็นผู้ให้บริการเนื้อหารายการหรือเจ้าของสถานีออกจากกัน ทำให้สามารถประหยัดทรัพยากรทั้งคลื่นความถี่และอื่นๆ ไม่เกิดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน โดยที่เจ้าของสถานีจะทำหน้าที่ผลิตเนื้อหารายการเพียงอย่างเดียว ทำให้มีเนื้อหารายการที่ดีมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น โดยประกาศฯ ฉบับนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการกำหนดอุปกรณ์เครื่องส่งที่จำเป็นต้องใช้สำหรับผู้ประกอบการโครงข่ายในการสร้างโครงข่ายวิทยุระบบดิจิทัล ส่วนอุปกรณ์เครื่องรับที่จำเป็นต้องใช้เพื่อให้มีการผลิตในประเทศและให้ประชาชนสามารถซื้อได้ในราคาที่เหมาะสม โดยที่จะเริ่มให้มีผู้ประกอบการมาทำการทดลองทดสอบคู่ขนานไปกับระบบวิทยุเดิม ซึ่งประกาศดังกล่าวนี้เน้นการส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยสามารถผลิตทั้งเครื่องส่งและเครื่องรับขึ้นเองเพื่อนำมาใช้งานให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ กสทช. กำหนด พร้อมอำนวยความสะดวกในการจดทะเบียนเครื่องรับและเครื่องส่งวิทยุและอุปกรณ์ที่ผลิตแล้วให้สามารถนำมาใช้งานและจำหน่ายสู่ท้องตลาดได้ต่อไป โดยมีขั้นตอนการผลิตหรือนำเข้าสำหรับการทำ Type Approval และการจำหน่าย เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจน ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญในการที่จะก่อให้เกิดวิทยุกระจายเสียงระบบดิจิทัลอย่างแท้จริงภายใต้กลไกของตลาดในประเทศไทย
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon