CGSI : กลุ่มโทรคมนาคม คาด AIS และ TRUE จะประมูลย่านความถี่ mid-band 2100MHz และ 2300MHz เพื่อรองรับ 4G/5G และเทคโนโลยีในอนาคต

15

มิติหุ้น – ฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือ CGSI ระบุในบทวิเคราะห์ ว่า หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นรายงานว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ (กสทช.) เตรียมจัดการประมูลคลื่นความถี่ 6 ย่านความถี่คือ 850MHz, 1500MHz, 1800MHz, 2100MHz, 2300MHz และ 26GHz ในปี 68 โดย กสทช.จะนำหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะภายใน 30 วันและน่าจะเปิดประมูลได้ในเดือนเม.ย.68

ทั้งนี้ กสทช. เผยว่า การประมูลย่านความถี่ 850MHz, 1500MHz และ 1800MHz จะจัดขึ้นพร้อมกัน ขณะที่ย่านความถี่ 850MHz, 2100MHz และ 2300MHz ใช้งานโดยบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) และจะสิ้นสุดการอนุญาตในเดือนส.ค.68 ส่วนการประมูลย่านความถี่ 26GHz จะมาจาก capacity ที่เหลืออีก 100MHz จากการประมูลรอบล่าสุดในปี 63

โดยย่านความถี่ 2100MHz ประกอบด้วย bandwidth ของ NT 45MHz ส่วนที่เหลือมาจากใบอนุญาตคลื่นความถี่ 2100MHz ของ AIS และ TRUE ที่จะหมดอายุในปี 70

ฝ่ายวิเคราะห์ CGSI ระบุว่า ปัจจุบันยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับราคาตั้งต้นประมูลของแต่ละย่านความถี่ ขณะที่กสทช. เผยว่าราคาตั้งต้นประมูลของคลื่นความถี่ 2100MHz จะต่ำกว่าราคาคลื่นความถี่รอบที่แล้วที่ 3.1 หมื่นล้านบาท จึงเชื่อว่าบริษัทโทรคมนาคมน่าจะไม่ให้ความสนใจกับย่านความถี่ low-band (850MHz, 1500MHz และ 1800MHz) และ high-band (26GHz) มากนัก เนื่องจากเป็นย่านความถี่ที่ใช้สำหรับ 3G และในบางพื้นที่สำหรับ 5G
แต่ย่านความถี่ mid-band สามารถใช้สำหรับ 4G หรือ 5G ได้ทั่วประเทศ จึงเชื่อว่า ย่านความถี่ mid-band (2100MHz และ 2300MHz) จะถูกประมูลโดยผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สองบริษัท คือ AIS และ TRUE เพื่อรองรับบริการ 4G/5G และเทคโนโลยีในอนาคต

ยังแนะนำให้คงน้ำหนักการลงทุน (Neutral) ในกลุ่มโทรคมนาคมไทย แนะนำถือ ADVANC และ TRUE เพราะเชื่อว่านักลงทุนควรรอดูผลการ ประมูลคลื่นความถี่และราคาประมูลสุดท้าย ปัจจุบันกลุ่มโทรคมนาคมมีการประเมินมูลค่าที่ premium หรือที่ P/BV 3.46 เท่าในปี 68 หรือ +2SD ของค่าเฉลี่ยในอดีต 6 ปี สะท้อนการแข่งขันที่ไม่รุนแรงและตลาดที่มีผู้เล่นเพียงสองราย ขณะที่เชื่อว่าแนวโน้มของกลุ่มโทรคมนาคมในปี 68-69 น่าจะขึ้นอยู่กับการเติบโตของธุรกิจหลัก ซึ่งน่าจะชะลอตัว

กลุ่มโทรคมนาคมมี downside risk หากผู้ประกอบการแข่งขันกันเสนอแพ็คเกจโทรศัพท์เคลื่อนที่และบรอดแบนด์รายเดือนมากขึ้น รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนที่ชะลอตัวและการประมูลคลื่นความถี่ ส่วน upside risk จะมาจากการประหยัดค่าใช้จ่ายโครงข่ายและค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร (SG&A) รวมทั้งการที่ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และบรอดแบนด์เพิ่มขึ้นสุทธิแข็งแกร่งกว่าคาด

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon