รายงานพิเศษ : ความยั่งยืน คือกฎบังคับ ธุรกิจต้องมีจึงสู้ได้ในโลก

54

การมาของทรัมป์ ที่เป็นปฏิปักษ์กับการขับเคลื่อนESG และความยั่งยืน มุ่งสู่ธุรกิจสีเขียวของโลก รวมถึงกติกาของไทยที่กำลังออกพ.ร.บClimate Change เพื่อสนับสนุนการลงทุน มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ไปเดินทิศทางไหนระหว่างสหรัฐ และผลประโยชน์รวมของคนทั้งโลก 

ในระหว่างที่ทั่วโลกกำลังมุ่งขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืน เพื่อเดินตามกติกาที่ 191 ประเทศทั่วโลกได้ลงนามในกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (COP-Conference of the Parties) ที่กรุงปารีสในปี 2015 ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ข้อตกลงนี้มีเป้าหมายหลักในการรักษาอุณหภูมิโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับระดับก่อนอุตสาหกรรม.

ทำให้ทุกประเทศจะต้องมีการเขียนแผนให้บรรลุเป้าหมายนี้ ข้อตกลงปารีสได้กำหนดให้แต่ละประเทศต้องจัดทำและสื่อสาร เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของชาติ (NDC-Nationally Determined Contributions) ซึ่งเป็นการกำหนดพันธกรณีที่แต่ละประเทศต้องส่งให้กับกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC)แสดงให้เห็นถึงแนวทางการปฏิบัติ เป้าหมายและมาตรการที่ประเทศจะใช้ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม

ทว่า การดำรงตำแหน่งของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา มีนโยบายขัดแย้งต่อข้อตกลงปารีส เพราะทรัมป์ไม่เชื่อเรื่องความยั่งยืนของทั่วโลก เน้นผลประโยชน์ของอเมริกาเป็นหลัก นโยบายหลักๆ ของทรัมป์ จึงลดกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม สนับสนุนอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิล ถ่านหินและน้ำมัน ลดการสนับสนุน ESG

ดร.พิรุณ  สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงผู้นำสหรัฐอเมริกา ไม่ส่งผลกระทบต่อทิศทางการมุ่งขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวของโลก ที่ต้องมุ่งเน้นการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เช่นเดียวกันกับทิศทางการขับเคลื่อนนโยบายของไทย ไม่ว่าธุรกิจใด หากไม่มองเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) จะไม่สามารถแข่งขันได้ในโลกธุรกิจ เพราะทั่วโลกจะเริ่มกำหนดกติกาตามข้อตกลงระหว่างประเทศ เช่น CBAM กำหนดราคาภาษีสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนในยุโรป ที่ส่งผลไปถึงภาคการผลิต และความต้องการของผู้บริโภค

“ไม่มีอะไรหยุดยั้งทิศทางความยั่งยืนได้ ทั้งกติกา และสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) ภัยพิบัติที่รุนแรงมากขึ้น ภัยแล้ง พายุ น้ำท่วม น้ำทะเลสูงขึ้น มีการกัดเซาะชายฝั่ง ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า อุณหภูมิสูงเกิน 1.5 องศาแน่นอน เป็นสิ่งที่ทุกประเทศทั่วโลกจะต้องทำตามข้อตกลงช่วยกันลดอุณหภูมิโลกและความเสียหายที่จะส่งผลต่อภาคธุรกิจ”

7 สินค้าต้องถูกตรวจสอบย้อนกลับ

อีกทั้ง จะมีมาตรการที่กำหนดสินค้าที่ผลิตจะต้องถูกตรวจสอบความยั่งยืน จะต้องมีกำหนดพิกัดภูมิศาสตร์แหล่งที่มาไม่ส่งผลกระทบต่อการทำลายป่าและสิ่งแวดล้อม เรียกว่า EU Deforestation Regulation- EUDR โดยควบคุม 7 สินค้าเกษตร ประกอบด้วย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ถั่วเหลือง ไม้ กาแฟ เนื้อวัว และโกโก้

กฎกติกาเหล่านี้จึงทำให้ประเทศไทยจะต้องมีกลไกขับเคลื่อนภายในประเทศ เพื่อกระตุ้นให้สินค้าและภาคผู้บริโภคเตรียมความพร้อมให้สอดคล้องกับสากล โดยการออกพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (พ.ร.บ.Climate Change)  ที่ได้ร่างเสร็จและผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแห่งชาติ กำลังอยู่ระหว่างรอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) คาดว่าจะได้รับการพิจารณาภายในเดือนกุมภาพันธ์ จากนั้นจึงส่งไปให้ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ก่อนจะเข้าไปสู่รัฐสภา ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในต้นปี 2569

กฎหมายจะมีส่วนสำคัญทำให้เกิดการตระหนักรู้ ในลดการปล่อยคาร์บอนทั้งในผู้บริโภค และผู้ประกอบการ ตลอดจน มีการระดมทุนสนับสนุนผู้ประกอบการให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน โดยเฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 3.1ล้านราย ต้องปรับตัว

อย่างไรก็ตาม อธิบดีระบุว่า แม้ทรัมป์จะไม่เห็นด้วยกับESG แต่ทิศทางการเติบโตของกองทุน ESG  แม้สหรัฐจะลดกฎระเบียบและสนับสนุนอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิล กองทุนที่มุ่งเน้น ESG ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่ง เนื่องจากกลไกหลักในการขับเคลื่อนตลาดคือความต้องการของผู้บริโภค ไม่ใช่ภาคธุรกิจและภาคการเมืองอีกต่อไป

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon