SCG ลุยโครงการ LSPE เต็มสูบ

859

มิติหุ้น – SCG ยิ้มรับความคืบหน้าโครงการ LSPE ในเวียดนาม คว้าตัว “Enterprise” เพื่อทำหน้าที่จัดหาก๊าซอีเทน 1 ล้านตันต่อปี เป็นระยะเวลา 15 ปี พร้อมเช่าเหมาลำเรือของ “MOL” ทำหน้าที่ขนส่งก๊าซจากสหรัฐฯ ไปยังเวียดนามสำเร็จ มั่นใจโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จปี 70 เพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน รับตลาดปิโตรเคมีในภูมิภาคฟื้นตัว ตอบโจทย์ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

SCG เผยว่า โครงการเพิ่มวัตถุดิบก๊าซอีเทนที่โรงงาน Long Son Petrochemicals ในเวียดนาม หรือ LSPE ซึ่งเป็นโครงการของบริษัทย่อยในกลุ่มบริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC มีความคืบหน้า

โดยล่าสุดสามารถจัดหาและล็อกวัตถุดิบก๊าซอีเทนได้แล้ว โดย SCGC ได้ลงนามในสัญญาระยะยาวกับ Enterprise Products Partners L.P. (Enterprise) ซึ่งเป็นผู้จัดหาก๊าซอีเทนชั้นนำของสหรัฐอเมริกา ให้ทำหน้าที่จัดหาวัตถุดิบก๊าซอีเทนสำหรับโครงการ LSPE ประมาณ 1 ล้านตันต่อปี ตลอดระยะเวลาสัญญา 15 ปี

เดินหน้าเต็มสูบ

นอกจากนี้ SCGC ยังได้ลงนามสัญญาระยะยาวเช่าเหมาเรือ กับ Mitsui O.S.K. Lines, Ltd. (MOL) ผู้ให้บริการเรือขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลวชั้นนำของโลก เพื่อขนส่งก๊าซอีเทนจากสหรัฐอเมริกาไปยังเวียดนามเป็นระยะเวลา 15 ปี รองรับโครงการดังกล่าว เบื้องต้นจะให้บริการรอบแรกจำนวน 3 ลำ ส่วนที่เหลือ อยู่ระหว่างดำเนินการ

 

เรือขนส่งก๊าซอีเทน

 

ขณะเดียวกันบริษัทอยู่ระหว่างสร้างถังเก็บวัตถุดิบก๊าซอีเทน ซึ่งออกแบบพิเศษให้สามารถเก็บวัตถุดิบอีเทนที่สภาวะอุณหภูมิต่ำประมาณ -90 องศาเซลเซียสได้อย่างปลอดภัย รวมทั้งเตรียมความพร้อมด้านสาธารณูปโภคการรับวัตถุดิบด้วย

 

เพิ่มขีดความสามารถแข็งแกร่ง

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปลายปี 2570 และจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญให้กับกลุ่มบริษัทฯ จากต้นทุนการผลิตที่ต่ำลงและความยืดหยุ่นในการรับวัตถุดิบที่มากขึ้นของโรงงาน LSP เพื่อพร้อมรับกับตลาดปิโตรเคมีช่วงฟื้นตัวในอนาคต อีกทั้งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยแหล่งเงินลงทุนนั้นจะพิจารณาใช้แหล่งเงินทุนภายใน SCG

อย่างไรก็ตาม ในช่วงธุรกิจปิโตรเคมีชะลอตัว นอกจากโรงงาน LSP แล้ว SCGC ยังมีแนวทางบริหารจัดการการผลิตของโรงงานอื่นทั้งระยองโอเลฟินส์ (ROC) และมาบตาพุดโอเลฟินส์ (MOC) ซึ่งยังมีผลการดำเนินงานที่ดี ให้มีศักยภาพการแข่งขันสูงสุด และเร่งเดินหน้าส่งมอบนวัตกรรมมูลค่าเพิ่มสูง เช่น SCGC Green Polymers เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาด

กูรูมองเชิงบวก

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัย ASIA PLUS มีมุมมองเชิงบวกต่อพัฒนาการที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เพราะถือเป็นก้าวย่างสำคัญที่จะช่วยยกระดับธุรกิจปิโตรเคมีของ SCG ให้กลับมามีความสามารถในการแข่งขันได้อีกครั้ง

หากคำนวณบนปริมาณการใช้ก๊าซอีเทนที่จะทดแทนการใช้ Naphtha 1 ล้านตันต่อปี จะทำให้ LSPE มีต้นทุนการผลิตลดลงถึง 8,500 ล้านบาทต่อปี

อีกทั้งราคาก๊าซอีเทนก็มีความผันผวนต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับราคา Naphtha ที่เคลื่อนไหวไปตามราคาน้ำมันดิบ จึงทำให้โรงงาน LSP มีเส้นโค้งต้นทุน (Cost Curve) ดีขึ้นจากเดิมที่อยู่ในลำดับท้ายๆ ของโลก (4Th Quartile) มาอยู่ที่ระดับกลางๆ ของโลก (2nd Quartile) และมีความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุดในอาเซียน

 

 

 

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon