อินโนเวสท์ เอกซ์ ฉายภาพเศรษฐกิจโลกพบ 4 จุดจุดเปลี่ยน กุมทิศทางโลก หลังเศรษฐกิจขาลง พบพลังปฏิรูปสู่เศรษฐกิจสีเขียว แนวคิดทรัมป์อเมริกันเฟิร์ส โลกยังตึงตัวจากภาวะขัดแย้งทำพันธบัตรผันผวน ขณะที่เศรษฐกิจไทยเผชิญกับความท้าทาย 4 ด้าน คือ การผลิตตกต่ำ ปรับโครงสร้างภาษี ระบบการเงินตึงตัว และปัญหาสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรง
นายพิชัย เลิศสุพงศ์กิจ Chief Commercial Officer บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด (InnovestX) เปิดเผยถึงแนวโน้มทิศทางเศรษฐกิจในปี 2025 เป็นจุดเปลี่ยนปัจจัย 4 ประการ ที่จะกำหนดทิศทางเศรษฐกิจและการเมืองโลก ประกอบด้วย
1.จังหวะสุดท้ายก่อนการเปลี่ยนแปลง (Transition)
เศรษฐกิจโลกกำลังเดินทางสู่ขาลงช้าๆ (Soft Landing) จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและเงินเฟ้อที่ลดลง ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีแผนลดดอกเบี้ยต่อเนื่องสู่ระดับ 3.4% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่โลกเร่งแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมผ่านพลังงานสะอาดราคาถูกลง ทำให้จีน กลายเป็นผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียน
2.พลังปฏิรูปจากมัสก์และเทคโนโลยีสีเขียว (Technology)
อีลอนมัสก์ ในฐานะที่ปรึกษาพิเศษของทรัมป์ ได้นำประสบการณ์จาก Tesla, SpaceX และ xAI มาปฏิรูประบบราชการ และผลักดันความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของสหรัฐฯ คาดการณ์จะมีการลงทุนในศูนย์ข้อมูลถึง 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงปี 2024-2027 ทำให้เทคโนโลยีสีเขียว ช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมีความก้าวหน้าจากต้นทุนที่ลดลง
3.การกลับมาของแนวคิด Trump:America First
การชนะเลือกตั้งของโดนัลด์ ทรัมป์ นำมาสู่การฟื้นคืนนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ทั้งด้านการค้า (ขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน 60%), การเข้าเมือง(ผลักดันผู้อพยพผิดกฎหมายออกนอกประเทศ) และการคลัง (ลดภาษี 10 ล้านล้านดอลลาร์) สร้างความกังวลต่อเสถียรภาพทางการคลังและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
4.ความปั่นป่วนในตลาดการเงินและภูมิรัฐศาสตร์ (Turmoil)
ขณะที่ยังมีความตึงเครียดด้านความขัดแย้งระหว่างประเทศทวีความรุนแรง ทั้งวิกฤตยูเครน, ตะวันออกกลาง และทะเลจีนใต้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อ ตลาดพันธบัตรส่งสัญญาณเตือนความเสี่ยงผ่านอัตราผลตอบแทนที่พุ่งสูงขึ้น สะท้อนความกังวลต่อนโยบายการคลังและเงินเฟ้อ
ขณะที่ประเทศไทย จะต้องเผชิญกับความท้าทาย 4 ประการ ประกอบด้วย
1.ภาคการผลิตของไทยกำลังประสบปัญหาขาดประสิทธิภาพอย่างมีนัยสำคัญ (Tightened Economy)
สะท้อนจากดัชนีภาคการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวถึง 6.7% หลังจากยุคโควิด ขณะที่ประเทศคู่แข่งยังยังเติบโตต่อเนื่อง ในช่วง 14 ปีที่ผ่านมาอัตราการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมไทยต่ำกว่า 1% ต่อปี ถือว่าต่ำที่สุดในอาเซียน สาเหตุสำคัญมาจากการพึ่งพาการผลิตสินค้ามูลค่าต่ำ จึงต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากจีน
2.รัฐบาลมีแผนปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ (Tax reform)
การปรับโครงสร้างภาษี ควบคู๋กับการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ( VAT) ตลอดจนการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้ เพื่อเพิ่มรายได้และรักษาวินัยการคลัง เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลขาดดุลการคลังสูงถึง 4.5% ต่อ GDP สูงกว่าระดับที่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund -IMF) แนะนำถึงจุดปลอดภัย แต่การปฏิรูปโครงสร้างจะต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบเศรษฐกิจรุนแรงเกินไป
3.นโยบายการเงินที่ตึงตัวเกินไปส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ (Time to Cut)
สะท้อนจากสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่หดตัว 2% ในไตรมาส 2024 ถือเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ พร้อมกับคุณภาพสินเชื่อที่เสื่อมลง
ทั้งนี้ InnovestX มองว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจำเป็นต้องพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็ว และต่อเนื่องเพื่อบรรเทาความตึงตัวทางการเงิน หากลดล่าช้าและยังไม่ผ่อนคลายมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อ จะส่งผลต่อเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะชะลอกว่าคาดได้
4.ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรง เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น (Temperature Rising)
โดยเฉพาะปัญหา PM 2.5 ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตประชาชน ประกอบกับพันธสัญญาระหว่าง
ประเทศที่ไทยต้องดำเนินการตาม การปรับตัวสู่เศรษฐกิจสีเขียวจึงเป็นทั้งความท้าทายและ
โอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon