มิติหุ้น – กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Financial Markets: SCB FM) เปิดเผยว่า เงินบาทเดือนที่ผ่านมาผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของมาตรการ Tariffs โดยพบว่าคำขู่และการประกาศขึ้นภาษีของทรัมป์ทำให้เงินบาทเปลี่ยนแปลงถึง 30-40 สตางค์ในช่วงข้ามคืน ในระยะต่อไป SCB FM มองว่าดัชนีเงินดอลลาร์อาจแข็งค่าต่อได้ จากเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะยังแข็งแกร่ง อีกทั้ง มองว่ามาตรการ Tariffs จะยังอยู่ต่อ เพราะทรัมป์น่าจะใช้เป็นเครื่องมือต่อรองการค้า/ธุรกิจกับต่างประเทศ ทำให้มีโอกาสที่เงินบาทจะอ่อนค่าขึ้นมากกว่ากลับมาแข็งค่า จึงทำให้บาทอาจยังอ่อนค่าในกรอบ 33.85-34.35 ได้ ทั้งนี้ ความผันผวน (Implied volatility) ในตลาดเงินที่สูงขึ้นในช่วงนี้ เป็นโอกาสที่ลูกค้าส่งออก/นำเข้า อาจพิจารณาทำ FX option เพื่อจะได้อัตราแลกเปลี่ยนที่ดีขึ้น
นายแพททริก ปูเลีย รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานตลาดการเงิน และ Head of Private Banking Relationship Management ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในเดือนที่ผ่านมาเงินบาทผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของมาตรการขึ้นภาษีนำเข้า (Tariffs) โดยพบว่าคำขู่และการประกาศขึ้นภาษีของทรัมป์ทำให้เงินบาทเปลี่ยนแปลงถึง 30-40 สตางค์ในช่วงข้ามคืน โดยในช่วงแรกที่ทรัมป์มีท่าทีผ่อนปรนต่อนโยบาย Tariffs ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเร็วพร้อม เงินสกุลภูมิภาครวมถึงเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นตามเงินหยวน อย่างไรก็ดี หลังจากทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าจากแคนาดา เม็กซิโก และจีน ทำให้ตลาดกลับมากังวลผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่าเร็ว เงินบาทอ่อนค่า ด้าน US Treasury yields ปรับสูงขึ้นจากแนวโน้มเงินเฟ้อ
ราคาทองคำที่ปรับสูงขึ้นและแนวโน้มเงินทุนเคลื่อนย้ายก็ส่งผลต่อเงินบาทเช่นกัน โดยความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นทำให้นักลงทุนหันมาถือทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยเหมือนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งในเวลาที่ราคาทองคำสูงขึ้น จะหนุนให้บาทแข็งค่ากว่าสกุลอื่นในบางช่วง ด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายสู่ตลาดการเงินไทย พบว่าในช่วงที่ทรัมป์มีท่าทีผ่อนปรนต่อนโยบาย Tariffs มีเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าตลาดบอนด์ไทยติดต่อกันเกือบสัปดาห์ อย่างไรก็ดี ข่าวการมาของ DeepSeek ทำให้ตลาดการเงินโลกเกิดภาวะ Risk-off และเงินทุนไหลออกจากตลาดการเงินไทย โดยนักลงทุนหันไปถือสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และทองคำ ทำให้ราคาสินทรัพย์เสี่ยงปรับลดลง รวมถึงสกุลเงินภูมิภาคและเงินบาทอ่อนค่า หากสงครามการค้าไม่ทวีความรุนแรงตามที่คาดไว้ เงินทุนเคลื่อนย้ายก็มีแนวโน้มไหลออกน้อยลงในปีนี้
สำหรับในระยะต่อไป มองว่าเงินบาทอาจอ่อนค่าต่อได้ เนื่องจากดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐมีโอกาสแข็งค่าต่อจากเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะยังแข็งแกร่ง ทำให้ Fed จะยังไม่รีบลดดอกเบี้ย โดยการลดดอกเบี้ยครั้งแรกของ Fed อาจต้องรอถึงช่วงกลางปีนี้ อีกทั้งความเสี่ยงจากมาตรการ Tariffs น่าจะยังอยู่ ทำให้เงินบาทอาจยังอ่อนค่าในกรอบ 33.85-34.35 ได้
นายวชิรวัฒน์ บานชื่น นักกลยุทธ์ตลาดการเงินอาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า เงินบาทที่ราว 34.00-34.50 เป็นระดับที่ผู้ส่งออกอาจพิจารณาขายได้ เนื่องจาก ในเวลาที่มีข่าวด้านลบ (เช่น ประกาศขึ้นภาษี) ตลาดมักมี Reaction ที่แรงกว่าในเวลาที่มีข่าวดี (เช่น เลื่อนวันขึ้นภาษีออกไป) จึงทำให้มีโอกาสที่บาทจะอ่อนค่าต่อได้ อีกทั้ง มองว่า Fed จะยังไม่รีบส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยในไตรมาสแรกนี้ เพราะเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะยังแข็งแกร่งและเงินเฟ้อจะลดลงช้า
สำหรับผู้นำเข้ามองว่าเงินบาทที่ราว 33.10-33.60 เป็นระดับที่อาจพิจารณาซื้อได้ เนื่องจาก ที่ระดับนี้ตลาดได้ Price-out tariff premium ออกไปมากแล้ว สะท้อนจากช่วงที่ทรัมป์ให้ข่าวว่าอยากหลีกเลี่ยงการขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน เงินบาทแข็งค่าที่ราว 33.60-33.70 ทั้งนี้ นายวชิรวัฒน์มองว่าความเสี่ยงจาก Tariffs จะยังอยู่ เพราะทรัมป์จะใช้เป็นเครื่องมือต่อรองการค้า/ธุรกิจกับต่างประเทศ ทำให้มีโอกาสที่เงินบาทจะอ่อนค่าขึ้นมากกว่า
ความผันผวน (Implied volatility) ในตลาดเงินที่สูงขึ้นในช่วงนี้ เป็นโอกาสที่ลูกค้าส่งออก/นำเข้า อาจพิจารณาทำ FX option เพื่อจะได้อัตราแลกเปลี่ยนที่ดีขึ้น สำหรับมุมมองอัตราดอกเบี้ยไทย นายวชิรวัฒน์มองว่า กนง. อาจลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง ในการประชุมเดือนมิถุนายน ตามสถานการณ์สินเชื่อที่ปรับแย่ลงต่อเนื่อง รวมทั้งความเสี่ยงเศรษฐกิจที่มากขึ้นจากต่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับที่ตลาดมองว่า กนง. จะลดดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายนเช่นกัน โดยตลาดให้โอกาสเพียงราว 50% ที่ กนง. จะลดดอกเบี้ยในเดือนเมษายน นอกจากนี้ ตลาดให้โอกาสราว 80% ที่จะมีการลดครั้งที่ 2 ในปีนี้
ด้านตลาดพันธบัตรรัฐบาลไทย พบว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะยาว (Yield อายุ 10 ปี) ลดลงเร็วในสัปดาห์ก่อน เป็นผลจาก Demand ใน auction ที่สูง ในระยะต่อไปมองว่า Yield อาจลดลงอีกเล็กน้อยตาม US treasury yields สำหรับพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะสั้นถึงกลาง Asset Swap spread ยังค่อนข้างสูง เนื่องจากมีอุปสงค์เข้ามา receive THOR อยู่มากเช่นกัน จึงมองว่าลูกค้าอาจซื้อบอนด์เมื่อ Yields ปรับขึ้นเล็กน้อย (3Y yield ที่ 2.05%-2.10% หรือ 5Y yield ที่ 2.10%-2.15%) หรือ pay THOR ที่ maturity เดียวกันเพื่อ hedge และรับผลตอบแทนเป็น THOR + 15-20 bp
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon