สนับสนุนกนง. ลดอัตราดอกเบี้ยรอบนี้ …อย่ามัวแต่ระวัง

24

มิติหุ้น – ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. จะประชุมในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ได้ลดจากระดับสูงสุดที่ 2.50% สู่ระดับ 2.25% ในรอบการประชุมเดือนตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ก่อนจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.25% ในรอบการประชุมครั้งล่าสุดในเดือนธันวาคม โดยปัจจัยสำคัญที่ตีความได้จากการที่กนง.คงอัตราดอกเบี้ยคราวก่อนก็ด้วยการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย หรือเก็บ policy space ไว้เพื่อลดอัตราดอกเบี้ยเมื่อยามจำเป็นและตลาดมีความชัดเจน ไม่สับสนจากมาตรการการค้าโลกที่ยังไม่แน่นอน ซึ่งหากทำไปล่วงหน้าแล้ว นโยบายการเงินอาจมีประสิทธิภาพด้อยลง ขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและทิศทางอัตราเงินเฟ้อน่าจะขยับเข้ากรอบเป้าหมายของธปท.ในอนาคต แต่เมื่อเวลาผ่านไปราวเดือนเศษ เศรษฐกิจดูเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและมีความเสี่ยงขาลงมากขึ้น เราจึงมองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ทางกนง.จะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% สู่ระดับ 2.00% ในรอบการประชุมที่จะถึงนี้

ปัจจัยสนับสนุนลดดอกเบี้ยรอบนี้

ผมคาดว่าทางกนง.จะพิจารณาถึงความเสี่ยงขาลงที่มากขึ้นในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้ ซึ่งได้แก่

  1. เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าคาด – หลัง GDP ไทยขยายตัวต่ำเพียง 2.5% ในปี 2567 และมีความไม่แน่นอนด้านกำลังซื้อแม้มีมาตรการภาครัฐกระตุ้น โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์ที่ยังอ่อนแอลากยาว ประกอบกับแรงส่งจากกลุ่มภาคบริการที่ได้อานิสงส์จากนักท่องเที่ยวเริ่มจำกัด เนื่องจากการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้เทียบปีก่อนไม่ได้สูงมากเหมือนปีก่อนและใกล้เข้าสู่ระดับก่อนโควิด อีกทั้งการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างที่คาด นอกจากนี้ด้านการก่อสร้างภาคเอกชนยังเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจ จากทั้งการออกโครงการใหม่ที่ยังลดลงและจากความเข้มงวดของการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ยังมีต่อเนื่องจากปัญหาด้านเครดิต แม้ในช่วงแรกเศรษฐกิจไทยจะมีแรงส่งจากการท่องเที่ยวและการลงทุนภาครัฐ แต่ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจจะเริ่มมีมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีจากประเด็นสงครามการค้าที่จะกระทบภาคการผลิตและลามไปสู่ภาคการบริโภค
  2. เงินเฟ้อเสี่ยงไม่ถึงกรอบล่างที่ 1% – ทั้งจากกำลังซื้อคนในประเทศที่ยังอ่อนแอจนผู้ประกอบการไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนที่ขยับสูงขึ้นให้ผู้บริโภคได้ และจากทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลงจากความคลี่คลายด้านภูมิรัฐศาสตร์ทั้งในยูเครนและตะวันออกกลาง ซึ่งจะช่วยทำให้ราคาสินค้ายังอยู่ในระดับต่ำ และไม่เข้ากรอบล่างของกรอบนโยบายการเงินที่ 1-3%
  3. กำลังซื้อครัวเรือนรายได้น้อยและ SMEs อ่อนแอ ห่วงลามไปกระทบธุรกิจขนาดใหญ่ – เราเริ่มเห็นสินเชื่อที่หดตัวในธุรกิจขนาดเล็กและหลากหลายสินเชื่อภาคครัวเรือน โดยเฉพาะด้านอสังหาริมทรัพย์และเช่าซื้อ จนอาจกระทบสภาพคล่องของธุรกิจขนาดใหญ่ ธปท.อาจพิจารณาหามาตรการดูแลไม่ให้เกิดการลามจนกระทบภาคส่วนอื่นและสถาบันการเงินโดยรวม นอกจากนี้ ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อน่าจะมีส่วนสนับสนุนให้หนี้ครัวเรือนปรับตัวลดลง ทั้งระดับเทียบ GDP และทั้งมูลค่าในรูปเงินบาท ซึ่งเป็นเรื่องดีในด้านเสถียรภาพตลาดการเงินในระยะยาว และธปท.น่าจะคลายความกังวลในประเด็นนี้ได้ในระดับหนึ่งจนสามารถผ่อนคลายมาตรการทางการเงินได้มากขึ้น
  4. ป้องกันความเสี่ยงจากสงครามการค้า – สงครามการค้าน่าจะมีความชัดเจนและรุนแรงในช่วงครึ่งหลังของปี รวมทั้งมีการตอบโต้จากชาติที่สหรัฐตั้งกำแพงภาษี จนอาจทำให้การค้าโลกอ่อนแอลง จนกระทบภาคการผลิต การจ้างงาน การส่งออกและการบริโภคในประเทศ ซึ่งอาจต้องอาศัยมาตรการป้องกันผลกระทบหรือลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจากมาตรการที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
  5. พยุงค่าเงินบาทให้อ่อนค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐ – ค่าเงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐนับจากต้นปี แม้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะแข็งค่าเทียบสกุลสำคัญๆ และสกุลอื่นในภูมิภาคเอเชีย จนทำให้เงินบาทดูจะแข็งค่าเทียบสกุลคู่ค้าอื่นจนทำให้ไทยเสียความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออก ซึ่งหากจะใช้มาตรการทางการเงินด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยลง ก็พอจะช่วยลดความน่าสนใจในการลงทุนสกุลเงินบาท โดยเฉพาะในตลาดตราสารหนี้ ซึ่งพอจะช่วยให้เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าเทียบสกุลอื่นได้บ้าง

ลดดอกเบี้ยรอบนี้ เพื่อพยุงเศรษฐกิจ

การปรับลดอัตราดอกเบี้ยน่าจะเป็นการพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดตัวไปมากกว่านี้ หรือพยายามรักษาระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจเทียบไตรมาสต่อไตรมาสให้ทรงตัว ไม่ปรับลดลง ขณะที่การเติบโตของสินเชื่อในปีนี้อาจขยายตัวต่ำในช่วงแรกแม้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องด้วยความเสี่ยงด้านเครดิตยังสูง จากเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวช้าและไม่กระจายตัวดีเท่าที่ควร ซึ่งปัญหาเหล่านี้ยังกดดันการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ให้เข้มงวดต่อไป โดยเฉพาะต่อสินเชื่อที่อยู่อาศัยและเช่าซื้อ ขณะที่สินเชื่อกลุ่ม SMEs ยังคงหดตัวได้อยู่ในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งเราคาดหวังมาตรการทางการคลัง ทั้งการก่อสร้าง การจ้างงาน และการลดค่าครองชีพต่าง ๆ มาช่วงพยุงกำลังซื้อในกลุ่มล่างนี้  เนื่องด้วยจะหวังพึ่งมาตรการทางการเงินอย่างเดียวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจคงไม่ได้ อีกทั้งอาจมีความเสี่ยงด้านกับดักสภาพคล่อง หรือการที่สินเชื่อไม่ขยายตัวแม้ลดดอกเบี้ยด้วยจากนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ จึงต้องมีการประสานของหลากหลายนโยบายเข้าด้วยกันเพื่อเร่งความเชื่อมั่น

ไทยลดดอกเบี้ยก่อนเฟดได้หรือไม่

ส่วนที่มีความกังวลว่าไทยจะลดอัตราดอกเบี้ยก่อนธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้หรือไม่นั้น เรามองว่า ธปท.สามารถดำเนินนโยบายการเงินได้อย่างมีอิสระจากธนาคารกลางสำคัญ เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ แม้อาจต้องพิจารณาผลกระทบด้านความผันผวนของทุนเคลื่อนย้ายบ้าง แต่น่าอาศัยเครื่องมือบริหารความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารพาณิชย์มีอยู่ในการดูแลลูกค้าและนักลงทุน ทั้งนี้ เราคาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยรอบ 18-19 มีนาคม และอาจลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในรอบ 17-18 มิถุนายน และ 9-10 ธันวาคม สู่ระดับ 4.00% ในปีนี้ ส่วนกนง. น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 1.50% ในช่วงปลายปีนี้ โดยกนง.เหลือการประชุมอีก 5 นัด คือ 30 เมษายน (คงเพื่อรอดูความชัดเจนและประสิทธิผลของการลดดอกเบี้ยที่เราคาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์) 25 มิถุนายน (ลดเหลือ 1.75% หลัง GDP 1Q25 ที่สภาพัฒน์ฯจะรายงานวันที่ 19 พ.ค. ออกมาต่ำกว่าคาด) 13 สิงหาคม (ลดเหลือ 1.50% เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจหลังสงครามการค้าชัดเจนว่าไทยได้รับผลกระทบผ่านการส่งออกที่โตต่ำลง) 8 ตุลาคม (คง) และ 17 ธันวาคม (คง)

อย่ามัวแต่ระวัง

หลายสำนักคาดว่ากนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้ ซึ่งในความเป็นจริงก็น่าเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยที่สุด เนื่องจากยังไม่มีสัญญาณใด ๆ จากธปท. ถึงความจำเป็นในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อีกทั้งยังมีการย้ำถึงการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายหรือเก็บกระสุนไว้ใช้ยามจำเป็น แต่ที่ผมมองต่าง และมองว่ากนง.น่าจะทบทวนปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนไปจากการประชุมครั้งก่อน และจากทิศทางตัวเลขเศรษฐกิจและตลาดการเงินในอนาคต จนน่าจะสนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในรอบเดือนกุมภาพันธ์นี้ อีกทั้งหากไม่ได้ปรับลดในรอบนี้ นักวิเคราะห์ในตลาดการเงินส่วนใหญ่ก็มองว่ามีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยในรอบการประชุมหน้าในเดือนเมษายนอยู่แล้ว ผมจึงมองว่าการปรับลดก่อนน่าจะสร้างความเชื่อมั่นและมีผลต่อเศรษฐกิจมากกว่า ทั้งนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจไม่เห็นผลชัดเจนในช่วงหนึ่งถึงสองเดือน แม้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจากธปท.จะส่งผ่านถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ในเวลาไม่นาน แต่กว่าการลดอัตราดอกเบี้ยจะสร้างแรงจูงใจให้คนมาลงทุนเพิ่มขึ้น เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ เกิดการผลิตสินค้าและบริการ จนเกิดเงินหมุนเวียนผ่านการบริโภคที่เพิ่มขึ้น หรือส่งผ่านกลไกอัตราแลกเปลี่ยนและราคาสินค้าต่าง ๆ ยังต้องใช้เวลาราว 6-12 เดือน ซึ่งก็อาจเห็นผลทางเศรษฐกิจมากขึ้นในช่วงปลายไตรมาสสามถึงไตรมาสสี่ หรือในช่วงที่ผมคาดว่าเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวมากขึ้น อย่างน้อยก็พอป้องกันไม่ให้ไถลลงลึกหรือพอประคองการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้บ้าง เพราะหากรอนานเกินไป จนทุกอย่างสุกงอม มีความชัดเจน แม้จะดูเหมือนปลอดภัยในการดำเนินนโยบายการเงิน แต่ก็อาจทำให้เราขาดโอกาสในการป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำต่อเนื่องลากยาวได้ สุดท้าย นโยบายการเงินไม่ใช่พระเอก แต่ต้องเป็นการประสานกับนโยบายการคลังที่ดูแลด้านความเหลื่อมล้ำและมาตรการอื่น ๆ ในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เพื่อฟื้นเศรษฐกิจไทยในปีนี้และยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้สูงขึ้นในระยะยาวอย่างยั่งยืน

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon