มิติหุ้น – SAMART โชวร์รายได้เฉพาะไตรมาส 4 ปี 2567 มีรายได้ 3,602 ล้านบาท กำไร 171 ล้านบาท รวมทั้งปีรายได้แตะที่ 10,157 ล้านบาท พลิกจากขาดทุนเมื่อปี 2566 กลับมามีกำไร 133 ล้านบาท หากไม่รวมโดนตั้งสำรองคดี Bagoc ปีนี้จะมีกำไรถึง 420 ล้านบาท รวมงานในมือ ณ สิ้นปี 2567 ของทุกสายธุรกิจ มีมูลค่ากว่า 13,000 ล้านบาท มั่นใจปีนี้เป้ารายได้ที่ 13,500 ล้านบาท มุ่งธุรกิจใหม่ที่สร้างรายได้ประจำ
นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาธุรกิจใหม่ บริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAMART กล่าวถึงผลการดำเนินงานของกลุ่มสามารถว่า “แม้ในปีที่ผ่านมาภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศจะชะลอตัว แต่ผลการดำเนินงานของเรายังอยู่ในระดับที่ดี โดยบริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAMART เฉพาะไตรมาส 4 ปี 2567 มีรายได้ 3,602 ล้านบาท กำไร 171 ล้านบาท รวมทั้งปีบริษัทมีรายได้ทั้งสิ้น 10,157 ล้านบาท ลดลง 140 ล้านบาท โดยบริษัทฯ มีรายได้จากการขายงานตามสัญญา และรายได้จากการบริการรวม 10,042 ล้านบาท ลดลง 97 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจาก ในปี 2567 ธุรกิจบริการโครงข่ายวิทยุคมนาคมระบบดิจิตอล หรือ Digital Trunked Radio System ของสายธุรกิจ Digital Communications ไม่ได้มีการส่งมอบและติดตั้งเพิ่มเติมสำหรับโครงการจัดหาระบบวิทยุสื่อสารข่ายบังคับบัญชากระทรวงมหาดไทย (MOI) ดังเช่นในปี 2566 จึงส่งผลให้รายได้ลดลง 1,621 ล้าน ในขณะเดียวกันก็มีรายได้เพิ่มขึ้นจากหลายโครงการ ทั้งสายธุรกิจ Utilities and Transportations จากธุรกิจก่อสร้างโครงการสายส่งสถานีไฟฟ้าแรงสูงแบบครบวงจร มีรายได้เพิ่มขึ้น 893 ล้านบาท ธุรกิจด้านการให้บริการจัดการการจราจรทางอากาศที่ประเทศกัมพูชา มีรายได้เพิ่มขึ้น 111 ล้านบาท และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการการเก็บภาษีสรรพสามิต มีรายได้เพิ่มขึ้น 73 ล้านบาท ประกอบกับสายธุรกิจ Digital Communications มีรายได้จากค่าบริการ Airtime เพิ่มขึ้น 292 ล้านบาท และรายได้จากสายธุรกิจ Digital ICT Solution มีรายได้เพิ่มขึ้น 181 ล้านบาท
โดยในปี 2567 บริษัทมีกำไรสุทธิ 133 ล้านบาท ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่มีผลขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 390 ล้านบาท ทั้งนี้หากไม่รวมการรับรู้ผลขาดทุนจากการประมาณการหนี้สินระยะยาวจากกรณีข้อพิพาทกับคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 และการกีฬาแห่งประเทศไทย จำนวน 286 ล้านบาท ปี 2567 บริษัทจะมีกำไรถึง 420 ล้านบาท
สายธุรกิจ Digital ICT Solution (SAMTEL)
สายธุรกิจ Digital ICT Solution นำโดย บมจ.สามารถเทลคอม มีรายได้จากการขาย งานตามสัญญาและบริการ รวม 4,097 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 181 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5% จากปีก่อนหน้า โดยหลักมาจากรายได้ค่าบริการ และค่าเช่าที่เพิ่มขึ้น โดยในปี 2567 มีการเซ็นสัญญาในโครงการใหม่ รวมมูลค่าโครงการ 4,784 ล้านบาท และมีมูลค่างานในมือ (Backlog) ณ สิ้นปี 2567 รวม 4,361 ล้านบาท
สายธุรกิจ Utilities and Transportations
สายธุรกิจ Utilities and Transportations มีรายได้จากการขาย งานตามสัญญาและบริการ รวม 5,425 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,057 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็น 24% จากปีก่อนหน้า โดยมาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจก่อสร้างโครงการสายส่งสถานีไฟฟ้าแรงสูงแบบครบวงจรภายใต้ บริษัท เทด้า จำกัด มีรายได้เพิ่มขึ้น 893 ล้านบาท และธุรกิจการจัดการจราจรทางอากาศ ในเขตน่านฟ้าประเทศกัมพูชา ของบริษัท สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) มีรายได้เพิ่มขึ้น 111 ล้านบาท โดยในปี 2567 จำนวนเที่ยวบินที่บริหารจัดการโดยส่วนธุรกิจการจัดการจราจรทางอากาศ มีจำนวนรวม 103,887 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 11,202 เที่ยวบิน หรือเพิ่มขึ้น 12% จากปีก่อนหน้า โดยมีมูลค่างานในมือ (Backlog) ณ สิ้นปี 2567 รวม 8,000 ล้านบาท
สายธุรกิจ Digital Communications (SDC)
สายธุรกิจ Digital Communications นำโดย บมจ.สามารถดิจิตอล มีรายได้จากการขาย งานตามสัญญา และบริการ รวม 515 ล้านบาท ลดลง 1,336 ล้านบาท หรือลดลงคิดเป็น 72% จากปีก่อนหน้า โดยหลักมาจากรายได้จากงานตามสัญญาลดลง จำนวน 1,621 ล้านบาท เนื่องจากในปี 2567 บริการโครงข่ายวิทยุคมนาคมระบบดิจิตอล หรือ Digital Trunked Radio System ไม่ได้มีการส่งมอบและติดตั้งเพิ่มเติมสำหรับโครงการจัดหาระบบวิทยุสื่อสารข่ายบังคับบัญชากระทรวงมหาดไทย (MOI) ดังเช่นในปี 2566 ในขณะที่มีรายได้จากค่าบริการ Airtime เพิ่มขึ้น 292 ล้านบาท โดยมีมูลค่างานในมือ (Backlog) ณ สิ้นปี 2567 รวม 923 ล้านบาท
“บริษัท มั่นใจว่าปีนี้เป้ารายได้ที่ 13,500 ล้านบาท และผลกำไรจะเป็นที่น่าพึงพอใจ ทั้งสายธุรกิจ Digital ICT Solution ที่ตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 6,500 ล้านบาท ด้วยโอกาสจากหลายโครงการที่เลื่อนมาจากปีที่แล้ว และโครงการใหม่จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ สายธุรกิจ Utilities & Transportations ที่ตั้งเป้ารายได้ที่ 6,000 ล้านบาท โดยเฉพาะ บมจ.สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่น ผู้ให้บริการควบคุมการจราจรทางอากาศในประเทศกัมพูชาภายใต้ CATS ปีนี้จะมีโอกาสเติบโตจากการเปิดสนามบินนานาชาติพนมเปญแห่งใหม่ ส่วนบริษัทเทด้าและทรานเส็ค นอกจากการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าและสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ยังมีแผนรุกให้บริการ upgrade สถานีไฟฟ้าแบบเดิมให้เป็น Digital Substation ซึ่งเราหวังว่าธุรกิจใหม่ของเราในปีนี้จะเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำให้กับกลุ่มสามารถต่อไป” นายวัฒน์ชัย กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon