ttb analytics ประเมินตลาดเสริมความงามไทยปี 2568 โตต่ำด้วยรายได้ตลาด 75,000 ล้านบาท ด้วยแรงหนุน 3 พฤติกรรมกลุ่มศักยภาพใหม่ช่วยชดเชยกลุ่มลูกค้าหญิงวัยทำงานที่อิ่มตัว

20

มิติหุ้น – ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินตลาดเสริมความงามไทยปี 2568 โตต่ำด้วยรายได้ตลาด 75,000 ล้านบาท ขยายตัวเพียง 2.7% จากปี 2567 เพิ่มขึ้น 4% หลังตลาดเริ่มเผชิญกับภาวะชะลอตัวจากข้อจำกัดในกลุ่มลูกค้าหลักอย่างผู้หญิงวัยทำงานที่มีแนวโน้มลดลง แต่เห็นการขยายตัวของกลุ่มลูกค้าชายและผู้สูงวัยที่เริ่มเข้ารับบริการเสริมความงามเพิ่มขึ้น รวมถึงกลุ่มผู้บริโภคหน้าใหม่มีโอกาสที่จะตัดสินใจง่ายขึ้นผ่านการวางแผนใช้เงินภายใต้ความสามารถในการผ่อนการชำระในอนาคต ช่วยชดเชยและสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมในอนาคต

ตลาดเสริมความงามเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างรวดเร็วทั่วโลก โดยเฉพาะหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 ทำให้กระแสการดูแลภาพลักษณ์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น และด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพและราคาถูกลง ทำให้บริการเสริมความงามสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ตามการคาดการณ์ของสถาบันวิจัย Grand View Research ตลาดเสริมความงามทั่วโลกจะมีมูลค่ากว่า 5 ล้านล้านบาทในปี 2567 และขยายตัวเป็น 11.5 ล้านล้านบาทในปี 2573 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 15% ต่อปี ปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตนี้ คือ การขยายตัวของตลาดเสริมความงามแบบหัตถการ (Non-Invasive Products) ซึ่งเป็นอีกทางเลือกที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการเสริมความงามโดยไม่ต้องผ่าตัด โดยเฉพาะผู้ที่กังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงจากการศัลยกรรมผ่าตัด (Invasive Products) นอกจากนี้ บริการหัตถการยังสามารถเสริมผลลัพธ์จากการศัลยกรรม ทำให้ดึงดูดกลุ่มลูกค้าหลากหลายทั้งลูกค้าเดิมและกลุ่มใหม่ที่ต้องการทางเลือกที่ปลอดภัยและมีความเสี่ยงต่ำ หนุนตลาดเสริมความงามมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อเนื่อง

สำหรับประเทศไทย ในช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเสริมความงามก็มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วตามกระแสโลก สอดคล้องกับการประเมินของ ttb analytics ที่รวบรวมข้อมูลรายได้ผู้ประกอบในช่วงปี 2562-2566 พบว่ารายได้เติบโตเฉลี่ยที่ 14% ต่อปี แต่ในปี 2567 คาดว่าจะเติบโต 4% จากปี 2566 ด้วยมูลค่าตลาด 73,000 ล้านบาท และประเมินว่าปี 2568 นี้ คาดว่าอุตสาหกรรมเสริมความงามจะขยายตัวต่ำอยู่ที่ 2.7% โดยมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 75,000 ล้านบาท สาเหตุที่ทำให้แนวโน้มอุตสาหกรรรมเสริมความงามของไทยไม่โตไปตามกระแส เนื่องมาจากปัจจัยฉุดรั้งสำคัญ ได้แก่ 1) ภาวะอิ่มตัวของกลุ่มผู้มีกำลังซื้อ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าหลักในผู้หญิงวัยทำงาน 2) ราคาค่าบริการที่ค่อนข้างสูงถือเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงบริการสำหรับกลุ่มลูกค้าในวงกว้าง เนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้นจากการนำเข้าเครื่องมือและเวชภัณฑ์จากต่างประเทศ และ 3) กำลังซื้อผู้บริโภคที่ถูกจำกัดด้วยรายได้ของคนไทยที่เพิ่มขึ้นช้า เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกาที่เป็นตลาดเสริมความงามใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึงเกาหลีใต้ซึ่งมีขื่อเสียงในด้านการให้บริการเสริมความงาม โดยเทียบรายได้ต่อการเข้าบริการต่อครั้ง พบว่าคนไทยอาจต้องทำงานถึง 25 วัน ขณะที่สหรัฐฯ หรือเกาหลีใต้ทำงานเพียงแค่ 1-3 วัน

แม้ว่าจะมีแรงกดดันตลาดผู้บริโภคไทยมากขึ้น แต่ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลความงามมากขึ้น จึงไม่ได้เป็นข้อจำกัดในการใช้บริการไม่ว่าระดับอายุ เพศ และรายได้ ด้วยการศึกษาเชิงลึกถึงพฤติกรรมผู้บริโภคของ ttb analytics พบ 3 ประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

1.ตลาดกลุ่มผู้ชายได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งมีอัตราการขยายตัวสูงถึง 65% ขณะที่กลุ่มลูกค้าผู้ชายวัยทำงาน ซึ่งถือเป็นสัดส่วนหลักของตลาดก็มีการขยายตัวที่ 20% ซึ่งสอดคล้องกับกระแสการหันมาดูแลตัวเองของผู้ชายทั่วโลกมากขึ้น สะท้อนได้จากการเติบโตของผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าและผิวกาย (Mans Grooming) จากข้อมูลของ Global Market Insights ที่คาดว่ามูลค่าตลาดโลกของผลิตภัณฑ์นี้จะเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 5.6% ในช่วงปี 2567-2575

2.ตลาดกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป กำลังกลายเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง ด้วยความพร้อมทางการเงินที่มากกว่ากลุ่มวัยอื่นๆ ทำให้กลุ่มนี้เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับธุรกิจเสริมความงาม จากการสำรวจพบว่า กลุ่มลูกค้าอายุ 50 ปีขึ้นไปมีค่าใช้จ่ายต่อคนสูงกว่ากลุ่มลูกค้าที่อายุน้อยถึง 2 เท่า โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงที่ให้ความสำคัญกับการชะลอวัย คาดว่ากลุ่มนี้จะมีแนวโน้มขยายตัวจากโครงสร้างประชากรในกลุ่มลูกค้าอายุ 40-50 ปี มีขนาดใหญ่ในปัจจุบัน และจะกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญในอนาคต

3.ตลาดกลุ่มผู้บริโภคหน้าใหม่มีแนวโน้มตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมของคนไทยนิยมซื้อสินค้าหรือบริการที่สามารถผ่อนชำระได้หลายงวด ซึ่งช่วยลดภาระจากการจ่ายเงินก้อนครั้งเดียว สอดคล้องกับหลักการบริโภคข้ามเวลา (Intertemporal Consumption) ส่งผลดีต่อผู้บริโภคที่มีการวางแผนการเงินล่วงหน้า จากการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายด้านความงามในประเทศไทย พบว่า การใช้บัตรเครดิตผ่อนชำระมีค่าใช้จ่ายต่อคนสูงกว่าการจ่ายเต็มจำนวนถึง 6 เท่า และมีอัตราการเติบโตสูงถึง 57% ในปัจจุบัน

โดยสรุป ตลาดเสริมความงามในประเทศไทยถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง ภายใต้กระแสความนิยมในการดูแลและปรับปรุงภาพลักษณ์ แม้จะเผชิญกับความท้าทายจากข้อจำกัดด้านอุปสงค์ในกลุ่มลูกค้าหลักที่ชะลอตัว แต่หากพิจารณาในระยะยาว ตลาดยังคงมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการขับเคลื่อนจากนวัตกรรมทางเทคโนโลยี กระแสการใส่ใจสุขภาพความงาม และการขยายกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายมากขึ้น ควบคู่ไปกับการแข่งขันในตลาดที่สูงขึ้นเพื่อดึงดูดลูกค้าที่ต้องการความพึงพอใจมากขึ้นในด้าน “มาตรฐาน ความปลอดภัย และคุณภาพ” จะกลายเป็นกลยุทธ์ที่มีอิทธิพลต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมเสริมความงามในอนาคต

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon