สสส. สานพลัง มสช.-สพบ.-เครือข่ายกว่า 100 องค์กร จัดมหกรรมวิชาการ

7

มิติหุ้น – สสส. สานพลัง มสช.สพบ.-เครือข่ายกว่า 100 องค์กร จัดมหกรรมวิชาการ “สุข Marathon” ปั้นชุมชนเข้มแข็งทั่วไทย เปิดเวทีแลกเปลี่ยน เสริมสุขภาวะทุกช่วงวัย ยกระดับบริการสุขภาพปฐมภูมิ ตั้งเป้าลดเด็กแรกคลอดน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ 12% คุมเบาหวานสำเร็จจาก 35% เหลือ 22% เดินหน้าขยายผล 30 อำเภอ สู่ 120 พื้นที่ เพื่อสุขภาพยั่งยืน

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 24 ก.พ. 2568 ที่ สามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพฯ สถาบันพัฒนาระบบบริการสุขภาพองค์รวม (สพบ.) ภายใต้มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายกว่า 100 องค์กรจัดมหกรรมวิชาการ “สุข Marathon” Happiness is Blooming ภายใต้แนวคิด “เพราะสุขภาพคือพลังสำคัญที่เราสร้างได้ร่วมกัน” รวมพลังสร้างสุขภาวะชุมชนอย่างยั่งยืน

นพ.สันติ ลาภเบญจกุล เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ เป็นการเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้และส่งเสริมการพัฒนาสุขภาพองค์รวมของชุมชนผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เรียนรู้ “สุข” แต่ละช่วงวัย สู่ชุมชนเข้มแข็ง ในประเด็นมิติสุขภาพ คุณภาพชีวิตและสัมมาชีพ/เศรษฐกิจชุมชน เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบสุขภาพองค์รวมสู่ชุมชนเข้มแข็งด้วยโรงพยาบาลชุมชนและศูนย์สุขภาพชุมชนเขตเมือง ที่สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องที่และท้องถิ่น ระหว่างโรงพยาบาลชุมชน ศูนย์สุขภาพชุมชนเขตเมือง ภาคประชาสังคม ภาครัฐ และภาคเอกชน คำว่า “ระบบสุขภาพองค์รวม” ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งสุขภาพกาย จิตใจ สังคม และปัญญา และเชื่อมโยงทุกกลุ่มวัยตั้งแต่เด็กปฐมวัย เยาวชน ผู้สูงอายุ คนพิการ และวัยทำงาน การจัดงานในครั้งนี้กลุ่มโรงพยาบาลชุมชนในเครือข่ายมากกว่า 80 แห่งทั่วประเทศ องค์กรภาคประชาสังคมกว่า 10 แห่งที่พร้อมจะถ่ายทอดแนวคิดและแง่มุมดี ๆ เพื่อขยายผลต่อให้กับพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ

“โรงพยาบาลชุมชนในโครงการฯ กว่า 30 แห่งจะมีเครื่องมือแก้ปัญหาสังคมพร้อมกับส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชาชนของแต่ละกลุ่มวัย ได้แก่ 1. กลุ่มเด็กปฐมวัย โครงการพัฒนาศักยภาพ เด็กปฐมวัย (ICAP) 2. กลุ่มเยาวชนครูนางฟ้า/หมอน้อย 3. กลุ่มคนพิการ โครงการจ้างงานคนพิการตาม พ.ร.บ. มาตรา 33 และ 35 4. ผู้สูงอายุ โครงการอาสาบริบาลท้องถิ่น/อื่นๆ เช่น เครื่องมือ MCI ส่งเสริมและป้องกันโรคสมองเสื่อม คลินิกผู้สูงอายุ ฯลฯ 5. กลุ่มวัยทำงาน การจัดบริการสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง โดยแต่ละโรงพยาบาลสามารถพิจารณาเลือกใช้เครื่องมือ เพื่อนำไปใช้ตามความต้องการของพื้นที่ สอดรับกับบริบทของชุมชน นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายสนับสนุนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในประเด็นดังกล่าวจากภาคส่วนต่างๆ อีก 18 องค์กร ทำให้การขับเคลื่อนงานเกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม เป็นต้นแบบความสำเร็จที่พร้อมจะขยายผลทั่วประเทศ

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาสุขภาพในชุมชนไทย โดยเฉพาะความท้าทายจากโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ข้อมูลการสูญเสียปีสุขภาวะ Disability-Adjusted Life Years  DALY ปี 2562 พบว่า ประชากรไทยเสียชีวิตด้วยโรค NCDs จำนวนประมาณ 400,000 คนต่อปี เช่น เบาหวานและความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ยังพบปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มเยาวชน และการเข้าสู่สังคมสูงวัยที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว สสส. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาระบบสุขภาพองค์รวมผ่านโรงพยาบาลชุมชนและศูนย์สุขภาพชุมชนเขตเมือง โดยมุ่งเน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสุขภาพของตนเอง ผ่านแนวทาง 3 ระบบหลัก ได้แก่ 1. การพัฒนาพื้นที่บูรณาการ ผ่าน 8 มิติสุขภาวะ เช่น เศรษฐกิจ จิตใจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 2. การพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ยกระดับการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและเท่าเทียม 3. การพัฒนานโยบายสาธารณะ ที่สนับสนุนสุขภาวะของประชาชนอย่างเป็นระบบ

“การพัฒนาระบบสุขภาพองค์รวมผ่านโรงพยาบาลชุมชนและศูนย์สุขภาพชุมชนเขตเมือง ดำเนินการใน 30 อำเภอ 25 จังหวัดทั่วประเทศ ผลลัพธ์จากโครงการนำร่องใน 6 พื้นที่ต้นแบบ ได้แก่ ลดภาวะน้ำหนักตัวเด็กแรกคลอดต่ำกว่าเกณฑ์ได้ 12% ลดอัตราผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้จาก 35% เหลือ 22% เพิ่มอัตราการเข้าถึงบริการสุขภาพปฐมภูมิในพื้นที่ชนบทมากขึ้น 40% ความสำเร็จของโครงการสะท้อนว่าการพัฒนาสุขภาพต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นหัวใจสำคัญ ในอนาคตจะขยายโครงการไปยัง 60-120 พื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดีและชุมชนมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน” นพ.พงศ์เทพ กล่าว

นพ.พงศ์เทพ กล่าวต่อว่า โรงพยาบาลชุมชนที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถจัดตั้ง “ศูนย์สนับสนุนชุมชนเข้มแข็ง” เป็นกลไกขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ เช่น รพ.เพชรบูรณ์ สาขาคลองศาลา ต้นแบบการดูแลสุขภาพชุมชนแบบมีส่วนร่วม รพ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี ลดภาวะเบาหวานและความดันโลหิตสูง รพ.ตากใบ จ.นราธิวาส ส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการผ่านการจ้างงานเชิงสังคม นอกจากนี้ยังขยายเครือข่ายสนับสนุนโรงพยาบาลชุมชนและภาคประชาสังคม รวมถึงการพัฒนาระบบดิจิทัล “Sharesook” ในการจัดเก็บและเผยแพร่ความรู้ด้านสุขภาพ โดยมีผู้ใช้งานมากกว่า 10,000 คน เพื่อจัดการความรู้และสนับสนุนการทำงานในพื้นที่ เกิดเครือข่ายดูแลสุขภาพในชุมชนที่ครอบคลุมทั้งมิติสุขภาพ คุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจชุมชน การปรับปรุงรูปแบบบริการปฐมภูมิโดยเน้นให้ประชาชนสามารถจัดการสุขภาพตนเอง

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon