เวิลด์แบงก์หนุนไทย เร่งประกาศTaxonomyเพิ่มอีก 4 ประเภท อุตฯ อสังหาฯ เกษตร และจัดการของเสีย รวม 6 ประเภท ช่วยกิจการย้ายสินทรัพย์สู่เศรษฐกิจเกิดใหม่ เพื่อโลกยั่งยืน
ภายในงานเสวนา “Economist Impact” ได้เปิดตัว Sustainability Week Asia ประจำปี ครั้ง
ที่ 4 งานสัมมนาที่รวบรวมสุดยอดผู้นำกว่า 1,000 คน เพื่อร่วมกันเจาะลึกถึงการบรรลุเป้าหมายด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero), การเปลี่ยนผ่านทางพลังงานอย่างเป็นธรรม, การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน, การบริหารทรัพยากรอย่างเท่าเทียม ตลอดจนบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปของประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความยั่งยืน (Chief Sustainability Officer) ของแต่ละองค์กรต้องมีการหลอมรวมกลยุทธ์ความยั่งยืนไว้ในกลยุทธ์ธุรกิจ บนความท้าทายการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของปัจจัยรอบด้าน กรุงเทพฯ ประเทศไทย
โดยตลอดการสัมมนา ผู้เข้าฟังจะได้รับข้อมูลเชิงลึกพร้อมแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ใช้ได้จริง เพื่อเป็นแนวทางให้ธุรกิจต่างๆ สามารถสร้างผลลัพธ์เชิงบวกด้านสิ่งแวดล้อมและก้าวไปสู่การสร้างโลกสีเขียวอย่างยั่งยืน
ในเวทีเสวนาย่อย ”การสร้างมาตรฐานการรายงานความยั่งยืนบนความท้าทายในด้านระบบการจัดประเภทธุรกิจเพื่อความยั่งยืน (Troubling taxonomies: how to standardise sustainability reporting) โดยมี “อรศรัณย์ มนุอมร” ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสภาคสถาบันการเงิน ธนาคารโลก เปิดเผยถึงแนวทางการจัดการTaxonomy ถือเป็นมาตรการที่กำหนดกิจการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยแบ่งเป็น 3 สี เพื่อจัดหมวดหมู่ด้านความยั่งยืนทั่วโลกเพิ่มขึ้นจาก 47 ระบบ เป็นเกือบ 70 ระบบ ซึ่งสะท้อนการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสู่การจัดการอาคารสีเขียว เศรษฐกิจหมุนเวียน และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่มากขึ้น นอกจากนี้ระบบการจัดการต่างๆ เหล่านี้ยังได้ประยุกต์กลไก “สัญญาณไฟจราจร” มาใช้ในการจัดประเภทสินทรัพย์—สีเขียว (Green) สีเหลือง (Transition) และสีแดง (Unsustainable)เพื่อช่วยให้มีการวัดผลความสามารถบริหารจัดการของธุรกิจทั้งโลก
ซึ่งในปีที่ผ่านมาในประเทศไทยได้เปิดตัว 2 ประเภท คือ ภาคธุรกิจพลังงานและภาคการขนส่ง ในปี 2568 จะเพิ่มอีก 4 ประเภท คือ อุตสาหกรรมการผลิต อสังหาฯและอาคารก่อสร้าง การเกษตร และการจัดการของเสีย โดยรวในปีนี้จะมี 6 ประเภท ที่จะช่วยเป็นเครื่องมือให้สถาบันการเงินพิจารณาการปล่อยสินเชื่อกิจการที่มีโอกาสและศักยภาพในการพัฒนาธุรกิจยั่งยืน
“ปัจจุบันมีกลไกเพิ่มมาช่วยพิจารณาธุรกิจที่อยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน (Transition) ที่มีโอกาสพัฒนาไปสู่สีเขียว เป็นการเพิ่มโอกาสขยายธุรกิจ หรือขยายสินทรัพย์ ที่เหมาะสมในการได้รับการสนับสนุนช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านได้ราบรื่น”
ทั้งนี้ อุปสรรคสำคัญในการเปลี่ยนผ่านคือความแตกต่างของแต่ละภูมิภาคทำให้การบรรลุถึงมาตรฐานเดียวกันทั่วโลกเป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ตาม ระดับของการทำงานร่วมกัน (Interoperability) กำลังดีขึ้นเมื่อหลักการพื้นฐานเริ่มสอดคล้องกันมากขึ้น แต่ยังต้องพิจารณาการจำแนกสินทรัพย์ที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่าน เช่น ก๊าซธรรมชาติ ยังคงเป็นประเด็นที่น่าติดตามซึ่งอาจได้รับอิทธิพลจากบริบทท้องถิ่นและพันธกรณีด้านสภาพภูมิอากาศระดับสากล
ERP จัดการข้อมูลชี้วัดธุรกิจ
Jeremy Lardeau, senior vice-president of Higg Index, Cascale กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มความโปร่งใสและปรับปรุงผลลัพธ์ด้านความยั่งยืน ปัจจุบัน ระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) ซึ่งไม่ได้ใช้เพียงจัดการข้อมูลทางธุรกิจเท่านั้น แต่ยังสามารถผสานข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนและข้อมูลด้านความยั่งยืนเข้ากับตัวชี้วัดทางการเงิน อย่างไรก็ตาม คุณภาพของข้อมูลยังคงเป็นอุปสรรคถึง 78% ซึ่งสะท้อนว่าบริษัทในเอเชียยังคงต้องการการรับรองโดยบุคคลที่สาม เช่น การตรวจสอบบัญชี (Audit) กำลังเพิ่มขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลด้านความยั่งยืนมีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้
Susanna Hasenoehrl, head of sustainable solutions business – Asia Pacific and Japan, SAP กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือการเชื่อมโยงตัวชี้วัดด้านความยั่งยืนให้เข้ากับข้อมูลทางการเงินจะสามารถช่วยเสริมสร้างการตัดสินใจทางธุรกิจได้ โดยองค์กรต่างๆ มีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับการประเมินผลกระทบด้านการเงินของความยั่งยืนมากขึ้น โดย CFO จะมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าว และโซลูชันของ SAP เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สามารถเชื่อมโยง Carbon Footprint เข้ากับการวิเคราะห์ผลกำไรและขาดทุน เพื่อให้แน่ใจว่ากลยุทธ์ด้านความยั่งยืนสอดคล้องกับผลประกอบการทางเศรษฐกิจ
ภาระของการรายงานที่กระจัดกระจายเป็นอีกอุปสรรคสำคัญ โดยเฉพาะกับผู้ผลิตที่ต้องส่งข้อมูลให้กับหลายแบรนด์ ตัวอย่างเช่น ซัพพลายเออร์ในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มต้องรายงานตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมผ่านแพลตฟอร์มที่แตกต่างกันจำนวนมาก ซึ่งทำให้เกิดความซ้ำซ้อนและไม่มีประสิทธิภาพ โดยองค์กรอย่าง Cascale (เดิมคือ Sustainable Apparel Coalition) กำลังผลักดันการใช้เครื่องมือรายงานมาตรฐานเพื่อลดความซ้ำซ้อน นอกจากนี้ ความร่วมมือระหว่างแบรนด์ ผู้ค้าปลีก และซัพพลายเออร์จะช่วยปรับปรุงกระบวนการรวบรวมข้อมูลด้านความยั่งยืนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ประเมินScope3 ซับซ้อนยุ่งเหยิง ผ่านAI
Jeremy Lardeau, senior vice-president of Higg Index, Cascale กล่าวว่า การบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากห่วงโซ่อุปทาน (Scope 3 Emissions) ยังคงเป็นความท้าทาย ปัญหาหลักเกิดจากการขาดแคลนข้อมูลที่สอดคล้องกัน ระบบมาตรฐานและโซลูชันที่ขับเคลื่อนด้วย AI จึงสามารถช่วยประมาณค่าการปล่อยก๊าซในกรณีที่ไม่มีข้อมูลจากซัพพลายเออร์ นอกจากนี้ AI ยังสามารถช่วยลดภาระการรายงาน ESG โดยอัตโนมัติ อย่างไรก็ตาม แม้ AI จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ แต่หน่วยงานกำกับดูแลยังคงเน้นย้ำถึงความสำคัญของข้อมูลต้นทางที่เชื่อถือได้และมีความโปร่งใส
การทำให้ระบบการจัดหมวดหมู่สามารถใช้งานร่วมกันได้ช่วยลดต้นทุนการปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ซ้ำซ้อน ธุรกิจที่ปฏิบัติตามระบบหนึ่งควรได้รับการยอมรับในอีกระบบหนึ่งเพื่อลดอุปสรรคด้านการลงทุนข้ามพรมแดน ระบบการจัดหมวดหมู่แบบสัญญาณไฟจราจรของอาเซียน ซึ่งรวมถึงสินทรัพย์ที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่าน เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการดึงดูดเงินทุนระหว่างประเทศเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่
เทคโนโลยีเกิดใหม่และอนาคตของการรายงานด้านความยั่งยืน Blockchain อาจเป็นทางเลือกสำหรับการติดตามวัตถุดิบที่ยั่งยืนภายในห่วงโซ่อุปทาน แต่ยังมีอุปสรรคด้านต้นทุนที่ทำให้การใช้งานแพร่หลายเป็นไปได้ยาก ขณะเดียวกัน แนวโน้มด้านกฎระเบียบในสหภาพยุโรปและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังมุ่งไปสู่การทำให้ระบบการจัดหมวดหมู่สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะสำหรับ SME ซึ่งมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทาน การออกแบบกรอบการดำเนินงานที่ใช้งานได้จริงจะช่วยให้การนำไปใช้เป็นไปอย่างแพร่หลายและส่งผลกระทบในทางบวกมากขึ้น