กูรู ด้านการพัฒนาการเงินสีเขียว ระบุ อาเซียนยังเผชิญกับปัจจัยบีบคั้นกดดน สกัดการเปลี่ยนผ่านไม่บรรลุตามคาดหวัง สำเร็จเพียง 40% ในปี 2030 แนะรัฐวางกรอบมาตรการเข้มข้น วางโรดแมปเอื้อภาพใหญ่สังคมได้ประโยชน์
“อาซิซ ดูร์รานี” หัวหน้าทีมและผู้เชี่ยวชาญระดับสูงด้านความช่วยเหลือทางเทคนิค สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคในกลุ่มอาเซียน+3 (AMRO) (Aziz Durrani Team Lead & Senior TA Specialist, Technical Assistance The ASEAN+3 Macroeconomic Research Office – AMRO) จัดตั้งเพื่อช่วยเสริมสร้างความยืดหยุ่นและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ใน 10 ประเทศสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) และประเทศจีน, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า การเปลี่ยนผ่านทางการเงินสีเขียว เป็นกระบวนการที่สำคัญในการทำให้เศรษฐกิจมีความยั่งยืน เพื่อให้ทุกประเทศสามารถรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลงทุนพัฒนาธุรกิจสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสิ่งแวดล้อม เช่น การเข้าไปลงทุนในพลังงานทดแทน เทคโนโลยีสีเขียว การปลูกต้นไม้ และการพัฒนาระบบขนส่งที่ยั่งยืน ขับเคลื่อนการเจริญเติบโตในเศรษฐกิจสีเขียว ลดคาร์บอน จะทำให้เกิดการจ้างงานในตำแหน่งใหม่ๆ เพื่อสิ่งแวดล้อมสมดุล
เปลี่ยนผ่านสีเขียว 40% ปี2030
ทั้งนี้ การเปลี่ยนผ่านการเงินสีเขียวนั้นเกิดขึ้นอย่างก้าวหน้ารวดเร็วในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว อย่างยุโรป แต่ในกลุ่มประเทศอาเซียน ยังต้องเผชิญกับความท้าทายหลากหลายด้าน ให้สอดคล้องกันกับบริบทที่เหมาะสม เพราะปัจจัยหลักของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอยู่ที่การอยู่รอดท่ามกลางความผันผวนวิกฤติเศรษฐกิจเป็นหลัก จึงอาจจะทำให้มีการลงทุนด้านการเงินเพียง 40% ของเป้าหมายในปี 2030
“หลังจากโควิดมีหลากหลายปัจจัยเข้ามากระทบความเป็นอยู่ของชีวิตคน ที่ต้องให้ความสำคัญมากกว่าการเปลี่ยนผ่านการเงินสีเขียว จึงเป็นเรื่องยากโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน ที่ความเป็นอยู่ของคน ยังเน้นแก้ไขปัญหาเรื่องปากท้องเป็นหลัก รายได้เฉลี่ยเพียง 2 เหรียญสหรัฐ ต่อวัน จึงไม่เพียงพอในการมุ่งสู่การเลือกใช้พลังงานสะอาด หากมีต้นทุนที่สูงและต้องลงทุน”
รัฐหัวเรือเข้มวัดผล แบงก์หนุนลงทุน
อาซิซ แนะนำว่า การเปลี่ยนผ่านสู่การเงินสีเขียวให้มีผลลัพธ์ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงจะต้องเกิดขึ้นจากมาตรการที่เข้มแข็งทั้งจากภาครัฐ ในการกำกับดูแล และมีการสนับสนุนจากสถาบันการเงิน ธนาคาร มีส่วนสำคัญในการสร้างแรงจูงใจให้กับนักลงทุนและบริษัทต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการลงมือทำ เปลี่ยนแปลงระบบไปสู่ความยั่งยืน รวมไปถึงการวางสมดุลระหว่าง การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาพัฒนาเพื่อการจัดการพลังงานไปสู่ทิศทางความยั่งยืน
การเปลี่ยนผ่านไปสู่ สู่พลังงานสีเขียวไม่เพียงแต่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ยังเป็นโอกาสในการสร้างอาชีพใหม่ในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด และมีการพัฒนามาตรฐานการใช้พลังงานที่ยั่งยืน จึงจะนำไปสู่การคิดค้นพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการด้านพลังงานของประชาชนได้ เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคมช่วยลดต้นทุนการบริโภค ใช้พลังงานโดยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมกันกับพัฒนาเครื่องมือการวัดผลที่มีประสิทธิภาพ
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon