มิติหุ้น-โดยนายประเวช องอาจสิทธิกุล รักษาการประธานเจ้าหน้าบริหาร บมจ.สายการบินนกแอร์ (NOK) เปิดเผยว่า ตามที่ บริษัทได้จัดประชุมเพื่อให้ข้อมูลกับผู้ลงทุนและผู้ที่ เกี่ยวข้อง (Public Presentation) ในการที่หลักทรัพย์ของบริษัทถูกขึ้นเครื่องหมาย “C” จากการที่บริษัทมีส่วน ของผู้ถือหุ้นน้อยกว่าร้อยละ 50 ของทุนชำระแล้ว เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2562 บริษัทได้จัดทำแผนฟื้นฟู รวมทั้งหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้นด้วยดังนี้ 1. การปรับแนวทางการตลาดให้เน้นขายผลิตภัณฑ์ที่มีราคาต่อหน่วยสูงขึ้น 2. การจัดหาพันธมิตรทางธุรกิจที่หลากหลาย ไม่ได้จำกัดเฉพาะพันธมิตรธุรกิจสายการบินเท่านั้น 3. การขยายเส้นทางการบินระหว่างประเทศ 4. การเพิ่มรายได้อื่น นอกเหนือจากรายได้จากค่าโดยสาร (Ancillary revenue) 5. การสื่อสารให้ผู้โดยสารเกิดความเชื่อมั่นต่อบริษัท โดยเฉพาะในเรื่องของการมีเที่ยวบินที่ตรงต่อเวลา ซึ่ง ข้อ 1 และ ข้อ 2 ดังกล่าวบริษัทได้มีการปรับปรุงเป็นที่เรียบร้อยแล้วและจะพัฒนาเพิ่มขึ้นไปอีก สำหรับข้อ 3 ข้อ 4 และข้อ 5 อยู่ในระหว่างขั้นตอนการดำเนินงาน
โดยเฉพาะแนวทางการลดต้นทุนนั้น บริษัทมีการนำเครื่องบิน ATR 2 ลำออกจากฝูงบิน เดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งสามารถทำให้บริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ 6.4%,แม้ว่าจำนวน เครื่องบินจะลดลงแต่บริษัทสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสารต่อลำได้ดีขึ้นจากการเพิ่มเที่ยวบิน เช่น เส้นทางเช่าเหมาลำ ดอนเมือง-ฮิโรชิม่า และเส้นทางเช่าเหมาลำอื่นสู่ประเทศจีน ซึ่งทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการ ใช้เครื่องบินต่อลำต่อวันได้เพิ่มขึ้น จาก 9.48 ชั่วโมง เป็น 9.71 ชั่วโมง ในไตรมาสที่ 4/2018 และ ในไตรมาสที่ 1/2019 นอกจากนี้บริษัทยังมีแนวทางเพิ่มอัตราการใช้เครื่องบิน โดยเพิ่มการบินในเวลากลางคืน, รวมทั้งการบริหารค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงเครื่องบินให้มีประสิทธิภาพ,ปรับปรุงการบริหารงานด้านให้บริการภาคพื้นดิน และการเพิ่มเที่ยวบินระหว่างประเทศ เพื่อให้มีระยะทางการบินที่ยาวขึ้น และแนวทางการลดอัตราการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง
ซึ่งทิศทางของบริษัทฯ ในอนาคตมี 3 แนวทางหลัก คือ1. ขยายเส้นทางการบินต่างประเทศ ทำให้มีรายได้เพิ่มประกอบกับต้นทุนต่อหน่วยลดลง เนื่องจากการใช้ฝูงบินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 2. สานต่อพันธมิตรทางธุรกิจที่มีอยู่ปัจจุบันเพื่อที่จะขยายเครือข่ายได้มากขึ้น และ 3. บริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
www.mitihoon.com