คอลัมน์กรุงศรีทอล์ก
โดยบริษัทหลักทรัพย์กรุงศรี จำกัด (มหาชน)
ความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้น จากความเป็นไปได้มากขึ้นที่สหรัฐจะใช้อัตราภาษี 25% กับสินค้าจีนเพิ่มอีก $3 แสนล้าน และดัชนีการบริโภคส่วนบุคคลที่แท้จริง (Core PCE) ของสหรัฐอาจจะขึ้นไปถึง 2% เงินเฟ้อที่สูงขึ้นและอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลงจะทำให้การกำหนดนโยบายของ Fed ยากขึ้น ตลาดคาดว่าจะมีการลดดอกเบี้ยในปีนี้ ขณะที่กรณีฐานของเราคือการคงดอกเบี้ย ซึ่งทั้งสองกรณีน่าจะเป็นบวกกับตลาดหุ้นในระยะสั้น และเนื่องจากทั้งสหรัฐและจีนมีท่าทีรุนแรงต่อกันมากขึ้น เราจึงมองว่าสงครามการค้าน่าจะยืดเยื้อ
ตลาดทราบดีอยู่แล้วถึงผลกระทบที่เกิดจากสงครามการค้าต่อการค้าโลกและอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลก แต่ที่ยังเห็นไม่ชัดก็คือแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเนื่องจาก core PCE ของสหรัฐยังต่ำอยู่ จากความน่าจะเป็นที่สหรัฐจะเก็บภาษี 25% จากสินค้าจีน $3 แสนล้าน เราคาดว่า core PCE อาจจะขยับเพิ่มขึ้น 0.3-0.5% จนมาใกล้กับเป้าหมายของ Fed ที่ 2% ถึงแม้การปรับขึ้นดังกล่าวจะเป็นกรณีพิเศษที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว แต่ก็เป็นการปรับขึ้นในอัตราที่สูง และทำให้ Fed ต้องตัดสินใจบนทางเลือกที่ซับซ้อน ว่าจะลดดอกเบี้ยเพื่อหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ หรือคงยึดหลักตามพัฒนาการของข้อมูลหรือ “data-dependent” และขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อซึ่งอาจจะดีดตัวขึ้นอย่างเหนือความหมาย ซึ่งตลาดมองว่า Fed จะลดดอกเบี้ยก่อนสิ้นปีนี้ (ความน่าจะเป็น 80%)
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นชัดเจนอยู่แล้วว่าเศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัว และนักลงทุนกำลังเก็งว่าธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ จะยังคงท่าทีผ่อนคลายต่อไป Trump ก่อให้เกิดแรงกดดันทางการเมืองเพิ่มขึ้นเพื่อให้ Fed ลดดอกเบี้ย แต่เราเชื่อว่า Fed จะยังคงเป็นดำเนินนโยบายอย่างเป็นอิสระ
อย่างไรก็ตาม เราเห็นด้วยว่า ณ จุดนี้ ไม่น่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยอีก เพราะเราไม่คิดว่าการขยับขึ้นของเงินเฟ้อจะต่อเนื่อง (เงินเฟ้อที่เกิดจากการตั้งกำแพงภาษีเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว, ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรกำลังแผ่วลง) สิ่งที่เป็นความเสี่ยงต่อมุมมองของเราก็คือการที่เงินเฟ้อดีดตัวขึ้นในขณะที่เศรษฐกิจกำลังเข้าสู่เสถียรภาพ ซึ่งจะทำให้ Fed เปลี่ยนท่าทีมาเป็น hawkish ซึ่งจะสร้างความแปลกใจให้ตลาด ในทางทฤษฎีแล้ว การซื้อขายแบบ contra-trade อาจจะให้ผลตอบแทนมากกว่า
ตลาดหุ้นตอบสนองดีตอนที่ Fed ลดดอกเบี้ย (แทนที่จะเป็นการขึ้นดอกเบี้ย) หลังจากที่คงดอกเบี้ยมาเป็นเวลานาน เราประเมินความเป็นไปได้ไว้ 2 แนวทางหลังจากที่ Fed คงดอกเบี้ยมาเป็นเวลานาน (i) ขึ้นดอกเบี้ย และ (ii) ลดดอกเบี้ย สำหรับกรณีการขึ้นดอกเบี้ย ดัชนี DXY และ commodity จะตอบรับดีที่สุด เพราะเป็นการสะท้อนว่าเศรษฐกิจยังคงแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง ส่วนในกรณีการลดดอกเบี้ย สินทรัพย์เสี่ยง และพันธบัตรรัฐบาลจะโดดเด่น (bull steepening) แต่เนื่องจากเราให้น้ำหนักกับโอกาสที่จะคง/ลดดอกเบี้ยมากกว่าการปรับขึ้น เราจึงแนะนำให้นักลงทุนยังคงเน้นลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่อไป