สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นทั่วโลกเคลื่อนไหวแกว่งตัวในทิศทางบวกจากการคาดการณ์ว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะมีการปรับตัวลดลง ในรอบการประชุมเดือนกรกฎาคม ส่งผลให้ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐฯปรับตัวขึ้นทะลุ 3,000 จุดได้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าโอกาสที่สหรัฐฯจะมีการลดดอกเบี้ยนั้นมีสูง
นอกจากเรื่องทิศทางดอกเบี้ยของสหรัฐฯแล้ว ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้ (15 – 19 ก.ค.) จะเป็นเรื่องการรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนกลุ่มธนาคารในสหรัฐฯ ในไตรมาส 2 โดยคาดว่าจะเติบโดยเฉลี่ย 10% โดยหุ้นกลุ่มธนาคารที่จะมีการประกาศผลประกอบการ ได้แก่ CITI , Bank of America , JP Morgan ซึ่งการรายงานผลประกอบการดังกล่าวจะเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงความแข็งแรงของภาคการเงินและการลงทุนของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาซึ่งจะมีการรายงาน GDP ไตรมาส 2 ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2562 ผลที่ออกมาจะเป็นตัวกำหนดทิศทางดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯในระยะต่อไป
ส่วนทางด้านเศรษฐกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจ คือ ในวันที่ 15 ก.ค. จะมีรายงานตัวเลข GDP ของจีน คาดว่าจะออกมาที่ระดับ 6.2% ชะลอตัวจากช่วงก่อนหน้าที่ 6.5% สาเหตุจากการส่งออกของไทยที่ชะลอตัวเพราะภาวะสงครามการค้าและการอ่อนตัวลงของภาคการบริโภค เช่นเดียวกับตัวเลขดุลการค้าของประเทศญี่ปุ่นที่จะมีการประกาศในวันที่ 18 ก.ค. คาดว่าจะมีการขาดดุลเพิ่มขึ้นที่ระดับ 979.2 พันล้านเยน เป็นการขาดดุลต่อเนื่องจากช่วงก่อนหน้าที่ระดับ 967.1 พันล้านเยน
ด้านปัจจัยในประเทศสัปดาห์นี้ ประเด็นสำคัญที่นักลงทุนต้องติดตามและจะมีผลต่อทิศทางตลาดคือ การออกมาตรการสกัดกั้นเงินบาทแข็งค่าในระยะสั้นของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อวันศุกร์ที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมา หลังจากมีกระแสเงินทุนไหลเข้าประเทศไทยจนทำให้เงินบาทแข็งค่า ซึ่ง KTBST ประเมินว่า มาตรการดังกล่าว หากส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอาจกระตุ้นให้นักลงทุนต่างประเทศขายทำกำไรในหุ้นและพันธบัตรลงเพื่อลดความเสี่ยงจากการอ่อนค่าของเงินบาท แต่ก็คาดว่าจะมีผลในช่วงสั้นๆเท่านั้น ขณะเดียวกันคาดว่า หุ้นที่นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อในช่วงระยะ 1 เดือนที่ผ่านมานั้น มีความเสี่ยงต่อการเทขายทำกำไร ได้แก่ CPALL, AOT, SCC, ADVANC, KBANK, BDMS, LH, PTTEP, INTUCH และ PTT ดังนั้นนักลงทุนอาจพิจารณาหลีกเลี่ยงหุ้นในกลุ่มนี้ และแนะนำรอจังหวะเข้าซื้อกลับเมื่อเห็นสัญญาณบวกกลับเข้ามา คาดการณ์กรอบ SET Index ที่ระดับ 1,720-1,750 จุดในสัปดาห์นี้
สำหรับการลงทุน KTBST ยังคงแนะนำกระจายการลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ และตลาดหุ้นต่างประเทศที่น่าสนใจ อย่าง ตลาดหุ้นจีนและอินเดีย ที่มีอัตราการเติบโตสูงกว่าตลาดเกิดใหม่อื่นๆโดยเปรียบเทียบ ในขณะที่สินทรัพย์อย่างตราสารหนี้ KTBST ยังให้น้ำหนักการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ที่จะได้รับประโยชน์จากทิศทางดอกเบี้ยในตลาดโลกขาลงต่อเนื่องนับจากนี้ ติดตามข่าวสารการลงทุนได้จาก ”มุมความรู้” https://www.ktbst.co.th/th/knowledge.php
โดยชาตรี โรจนอาภา รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์
บล. เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (KTBST)