ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.ไซแมท เทคโนโลยี หรือ SIMAT ผู้ให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศแบบครบวงจร โดย “นายธรรมนูญ ก่อเกียรติวนิช” กรรมการ เผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 5/2562 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2562 ได้มีมติอนุมัติให้บริษัทเข้าทํารายการจําหน่ายหุ้นสามัญของ E-TECH IT SDN. BHD. (“ETECH”) ที่บริษัทฯ ถือครองอยู่ทั้งหมดจํานวน 3,600,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 ริงกิตมาเลเซีย หรือคิดเป็นสัดส่วน 60% ของจํานวนหุ้นตามทุนจดทะเบียนเรียกชําระแล้วของ E-TECH ให้แก่ Mr. LING CHEE KIAT รวม มูลค่าทั้งสิ้น 3,800,000.00 ริงกิตมาเลเซียหรือประมาณ 28,174,340 บาท
เนื่องจากธุรกิจของ E-TECH มีความเสี่ยงทางธุรกิจสูง การขายเงินลงทุนใน E-TECH จะทําให้บริษัท ลดความเสี่ยงจากการคํ้าประกันหนี้ และการตั้งสํารองหนี้สงสัยจะสูญ รวมถึงธุรกิจของ E-TECH มีลักษณะรายได้มีขนาดใหญ่แต่กําไรขั้นต้นและกําไรสุทธิตํ่ามาก ทําให้โครงสร้าง ธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯโดยรวมมีอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ตํ่า และมีหนี้สินค่อนข้างสูง
โดยการขายเงิน ลงทุนใน E-TECH จะทําให้โครงสร้างธุรกิจมีความชัดเจน กระชับ และมีความคล่องตัวสูง และ เงินที่ได้ รับจากการขายเงินลงทุนใน E-TECH ส่วนหนึ่งจะนํามาใช้ในโครงการจัดให้ มีบริการ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล (Zone C) กลุ่มที่ 4 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 มูลค่า 2,248 ล้านบาท รวมถึงใช้เป็น เงินทุนหมุนเวียนในการดําเนินธุรกิจของบริษัทฯ
ด้าน“นายทองคำ มานะศิลปพันธ์” ประธานกรรมการ เผยว่า แนวโน้มผลงานช่วงไตรมาส 2/2562 จะสดใส เพราะเป็นไตรมาสแรกที่จะเริ่มทยอยรับรู้รายได้ “โครงการอินเทอร์เน็ต Zone C” กลุ่มที่ 4 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 มูลค่ากว่า 2.24 พันล้านบาท โดยโครงการนี้จะรับรู้รายได้ต่อเนื่องไปอีก 5-6 ปี (2562-2566) ทั้งนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างเตรียมแผนเพื่อเข้าร่วมประมูลโครงการใหญ่ของทั้งของภาครัฐบาลและเอกชนเพิ่มเติมด้วย
ขณะที่ “ธุรกิจเลเบล” หรือสติ๊กเกอร์เลเบล กระดาษบาร์โค้ด ที่ดำเนินการโดย “บจ.ไซแมท เลเบล” ปริมาณออเดอร์จากกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้ามามากขึ้น รวมถึงยังมีงานในมือ (Backlog) ที่จะทยอยรับรู้รายได้ต่อเนื่องในทุกๆไตรมาสด้วย
พร้อมกันนี้ บริษัทได้ปรับโครงสร้างภายใน ด้วยการขายหุ้น “ไซแมท เลเบล” ให้ “บจ.ฮินชิซึ (ประเทศไทย)” ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ทำ “ธุรกิจซิลค์สกรีน” ซึ่งการปรับโครงสร้างในครั้งนี้ก็เพื่อผลักดัน “บจ.ฮินชิซึ (ประเทศไทย)” เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯในปี 63 ล่าสุด “ฮินชิซึ” สร้างกำไรเฉลี่ย 100 ล้านบาท/ปี
ดังนั้นทั้งปี 62 มั่นใจจะพลิกทำกำไรครั้งแรกในรอบหลายปี เพราะไม่มีภาระการตั้งสํารองด้อยค่า และมั่นใจจะนำกำไรจากการดำเนินงานไปล้างขาดทุนสะสมได้ทั้งหมด 533.50 ล้านบาท (มีส่วนเกินมูลค่า 477.26 ล.) ด้าน “นักวิเคราะห์หลักทรัพย์แห่งหนึ่ง” คาดทั้งปี 62 กำไรทำนิวไฮ ไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท
www.mitihoon.com