ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทยและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า เศรษฐกิจไทยทั้งการส่งออกและการใช้จ่ายภายในประเทศในไตรมาส 2/62 ตามเครื่องชี้ส่วนใหญ่มีทิศทางที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/62 สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าไตรมาสแรกที่ขยายตัว 2.8%
ส่วนทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังปี 62 ประเมินว่ายังคงเผชิญความท้าทายจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะเมื่อสหรัฐฯ เตรียมที่จะปรับขึ้นภาษีนำเข้าในอัตรา 10% ต่อสินค้าจีน วงเงิน 3 แสนล้านดอลล่าร์ฯ ในวันที่ 1 ก.ย.นี้ ส่วนจีนได้ปรับค่าเงินหยวนอ่อนค่าหลุดระดับ 7 หยวนต่อดอลล่าร์ฯ โดยเป็นระดับอ่อนค่าที่สุดในรอบ 11 ปี
จากนั้นสหรัฐฯ ก็ระบุว่าจีนเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน (Currency Mainipulator) ซึ่งน่าจะนำมาสู่มาตรการเพิ่มเติมจากฝั่งสหรัฐฯ และส่งผลให้สงครามการค้ามีความเสี่ยงที่อาจจะรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่สหราชอาณาจักรอาจจะต้องออกจากสหภาพยุโรปโดยไร้ข้อตกลง (No Deal Brexit) ในวันที่ 31 ต.ค.
ทั้งนี้ จากปัจจัยดังกล่าวสร้างแรงกดดันเพิ่มต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงอยู่แล้ว ประกอบกับความผันผวนของค่าเงินดอลล่าร์ฯ ที่ทำให้เงินบาทยังมีแนวโน้มแกว่งผันผวนและอาจปรับแข็งค่าขึ้น อาจเป็นแรงกดดันที่ไม่เอื้อต่อภาพการฟื้นตัวของการส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปี 62 โดยปัจจุบันเงินบาทแข็งค่าแล้ว 5.9% เมื่อเทียบกับเงินดอลล่าร์ฯ นับจากต้นปีจนถึงวันที่ 6 ส.ค.62 ซึ่งเป็นการแข็งค่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กกร. จะติดตามสถาการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินทิศทางการปรับตัวของเศรษฐกิจไทย และหวังพึ่งพาการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยเฉพาะมาตรการระยะสั้นจากภาครัฐ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง และการเรียกฟื้นความเชื่อมั่นของภาคเอกชน นอกจากนี้ ยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ไว้ที่ 2.9-3.3% และการส่งออก อยู่ที่ -1.0 – 1% ส่วนอัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบ 0.8-1.2%
www.mitihoon.com