ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 53 – 58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 58 – 63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (2 – 6 ก.ย. 62)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันต่อเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่ซบเซา หลังสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนทวีความรุนแรงขึ้น และอาจทำให้สหรัฐฯ ตกอยู่ในภาวะเศษฐกิจถดถอย รวมทั้ง ความกังวลเกี่ยวกับการที่อังกฤษจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) โดยไร้ข้อตกลงในวันที่ 31 ต.ค. นี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันที่จะปรับตัวลดลง นอกจากนี้ กำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังข้อมูลล่าสุดไปแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 12.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากความคาดหวังของตลาดว่าเฟดน่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมเดือน ก.ย. นี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
- ตลาดน้ำมันดิบมีแนวโน้มถูกกดดัน จากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังจีนได้ประกาศจะเพิ่มการขึ้นภาษีราวร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 10 ในสินค้า 5,078 รายการที่นำเข้าจากสหรัฐฯ โดยผลบังคับใช้ถูกแบ่งป็นสองรอบคือ 1 ก.ย. 62 และ 15 ธ.ค. 62 ขณะที่สหรัฐฯ ตอบโต้กลับโดยการประกาศจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอีกระลอกมูลค่ารวม 550,000 ล้านเหรียญฯ ในวันที่ 1 ต.ค. 62 อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ และจีนเตรียมจัดการเจรจาการค้าอีกรอบในช่วงเดือน ก.ย. นี้ ก่อนที่จะถึงกำหนดการขึ้นกำแพงภาษีระลอกใหม่ โดยโฆษกกระทรวงพาณิชย์จีนเปิดเผยว่า จีนจะสกัดกั้นไม่ให้สงครามการค้ากับสหรัฐฯ ทวีความรุนแรงมากขึ้น
- ตลาดกังวลต่อความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะเศษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ เนื่องจากตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ ยังคงเกิดภาวะ inverted yield curve โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 ปี อยู่สูงกว่าพันธบัตรอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นการบ่งชี้ถึงแนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
- ตลาดจับตาเกี่ยวกับการที่อังกฤษจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) โดยไร้ข้อตกลงในวันที่ 31 ต.ค. นี้ หลังจากที่นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้ใช้แผนจำกัดการประชุมสภาเพื่อหวังเดินหน้าผลักดันให้อังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (EU) โดยไม่มีการทำข้อตกลง โดยจะทำให้มีการปิดรัฐสภาอังกฤษตั้งแต่กลางเดือน ก.ย. เป็นเวลาราว 1 เดือน ซึ่งจะทำให้รัฐสภามีเวลาน้อยลงในการออกกฎหมายเพื่อสกัดความพยายามของนายจอห์นสันในการนำอังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (EU) ในวันที่ 31 ต.ค. โดยไร้ข้อตกลง
- ถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ในการประชุมเศรษฐกิจประจำปีที่เมืองแจ็กสัน โฮล ไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมากนัก หากแต่พร้อมที่จะดำเนินมาตรการทางการเงินอย่างเหมาะสม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่านโยบายทางการเงินอาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระหว่างประเทศได้ อย่างไรก็ดี ร้อยละ 93.5 ของตลาดยังคงคาดว่าเฟดน่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมเดือน ก.ย. นี้
- กำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังตัวเลขประจำสัปดาห์ที่ 23 ส.ค. 62 อยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 12.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ การเปิดดำเนินการของท่อขนส่งน้ำมันดิบใหม่ในแหล่ง Permian คาดว่าจะส่งผลให้สหรัฐฯ สามารถส่งน้ำมันดิบได้มากขี้น
- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตจีนเดือน ส.ค. 62 ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ เดือน ส.ค. 62 ดัชนีภาคบริการสหรัฐฯ เดือน ส.ค. 62 และจีดีพียูโรโซนไตรมาส 2/2562
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (26 – 30 ส.ค. 62)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับขึ้น 0.93 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 55.10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่ม 1.09 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 60.43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 59.46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยราคายังถูกกดดันเนื่องจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ร้อนแรง หลังจีนเตรียมขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 75,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ สหรัฐฯ ประกาศจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนอีกระลอกมูลค่า 250,000 ล้านเหรียญฯ จากเดิมที่ร้อยละ 25 เป็นร้อยละ 30 ในวันที่ 1 ต.ค. 62 ซึ่งส่งผลให้ตลาดกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มอ่อนแอลงและอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน นอกจากนี้ ตลาดกังวลเกี่ยวกับการส่งออกน้ำมันดิบจากอิหร่านที่อาจปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังประธานาธิบดีฝรั่งเศสประกาศถึงการเตรียมจัดประชุมระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯ เพื่อหารือเรื่องข้อตกลงนิวเคลียร์ ซึ่งอาจส่งผลให้สหรัฐฯ ผ่อนปรนนโยบายการส่งออกน้ำมันดิบจากอิหร่าน อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุน หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 ส.ค. 62 ปรับลดลงมากถึง 10.0 ล้านบาร์เรล ไปอยู่ที่ระดับ 427.8 ล้านบาร์เรล
www.mitihoon.com