มิิติหุ้น – “การนำเทคโนโลยีด้าน Textual Analysis มาประยุกต์ใช้เพื่อวัดระดับทัศนคติ (sentiment) กับข้อมูลที่เป็นตัวอักษร (text) ในรายงานอธิบายผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนนั้นมีการศึกษาอยู่พอสมควรแล้ว และส่วนใหญ่ได้ข้อสรุปว่า textual sentiment ที่วัดได้มีความสัมพันธ์กับผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในอนาคต หรือกล่าวได้ว่าฝ่ายจัดการที่เป็นผู้เปิดเผยข้อมูลนั้นมีมุมมองเกี่ยวกับธุรกิจของบริษัทตัวเองที่ค่อนข้างแม่นยำ อีกทั้งฝ่ายจัดการเหล่านี้พยายามสื่อสารข้อมูลที่มีความสำคัญผ่านช่องทางการรายงานคำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ (MD&A) เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประกอบกับการตัดสินใจลงทุนให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น”
- อย่างไรก็ดี การศึกษาที่เกี่ยวกับการหาความสัมพันธ์ระหว่าง textual sentiment และผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนส่วนมากใช้ข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศพัฒนาแล้ว อาทิ ในประเทศสหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดที่ผู้ลงทุนรู้จักนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งรายงานเกี่ยวกับผลการดำเนินงานเขียนเป็นภาษาอังกฤษทำให้วิธีทำ textual analysis เป็นไปได้โดยง่าย อย่างไรก็ดีงานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานวิจัยชิ้นแรกๆ ในตลาดหลักทรัพย์ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ที่ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์มานับคำที่มีความหมายในเชิงบวกและลบในคำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ (MD&A) ของบริษัทจดทะเบียนไทยที่รายงานเป็นภาษาอังกฤษ จากนั้นมีการใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์เพื่อใช้ทดสอบความสัมพันธ์ระหว่าง textual sentiment กับผลการดำเนินงานของบริษัทในอนาคต
- การศึกษานี้ทำมาจากคำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ (MD&A) กว่า 1,400 ฉบับ จาก 49 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย (คิดเป็นมูลค่าตลาดกว่าครึ่งหนึ่งของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด) ซึ่งมีการรายงานต่อเนื่องทุกไตรมาสตั้งแต่ปี 2012 ถึง 2018 ซึ่งมาจากหลากหลายภาคอุตสาหกรรม โดยประกอบด้วยคำทั้งหมดกว่า 6 ล้านคำ
- ผลการศึกษาพบว่าตัวแปรที่สร้างขึ้นเพื่อใช้แทน textual sentiment นั้นมีค่าสัมประสิทธิ์ที่เป็นบวกอย่างมีนัยสำคัญแสดงให้เห็นว่า textual sentiment ของฝ่ายจัดการที่ใช้เขียนคำอธิบายแนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนไทยนั้นมีข้อมูลแฝงอยู่ อีกทั้งยังพบว่าข้อมูลในรูปแบบของตัวอักษรนั้นมีความสำคัญในการอธิบายผลการดำเนินงานในอนาคตไม่แพ้ข้อมูลที่เป็นตัวเลข นอกจากนี้ยังสรุปได้ว่าฝ่ายจัดการไทยที่เขียนรายงานอธิบายผลการดำเนินงานเป็นภาษาอังกฤษนั้น ใช้กลุ่มคำที่คล้ายคลึงกับในสหรัฐฯ และ การวัด textual sentiment ของฝ่ายจัดการไทยด้วย dictionaryของต่างประเทศนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่สามารถนำไปต่อยอดในการทำ textual analysis ในรูปแบบอื่นๆ ได้