BGRIM ซุ่มดีลใหญ่M&A ดันรายได้ทะลุ4.2หมื่นล.

364

มิติหุ้น-BGRIM ส่งซิกทั้งปี 62 รายได้แรงทะลุ 4.2 หมื่นล้านบาท ลุ้นปิดดีลซื้อกิจการ (M&A)โรงไฟฟ้าแห่งใหม่ 2-3 แห่ง ปูพรมกำลังผลิตไฟฟ้าแตะ 2,896 MW  ลุ้นภาครัฐเปิดเสรีซื้อขายก๊าซ LNG เชื่อได้รับประโยชน์เต็มๆ หลังมีต่างชาติเสนอขายให้บริษัทในราคาที่ถูก เล็งร่วมทุนรัฐบาลเวียดนามทำธุรกิจซื้อขาย LNG คาดชัดเจนกลางปี 63

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ หรือ BGRIM ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้ารายใหญ่ โดยนางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เผยว่า แนวโน้มผลประกอบการปี 62 คาดรายได้เติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ 4.2 หมื่นล้านบาท และมีโอกาสเติบโตเกินเป้าหากปิดดีลซื้อกิจการ (M&A) ได้สำเร็จ ซึ่งบริษัทมีแผนเจรจาเข้าซื้อโรงไฟฟ้าอีก 2 -3 แห่ง คาดจะเห็นความชัดเจนได้ในช่วงปลายปีนี้

รฟฟ.จ่ายไฟเพิ่ม 3 แห่ง
ขณะที่ปัจจุบันบริษัทเริ่มรับรู้รายได้จากการจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ หรือ COD เข้ามาเพิ่ม 3 โครงการ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ น้ำแจ ในลาว กำลังการผลิต 15 MW, โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ประเทศเวียดนาม 2 โครงการ รวม 677 MW ซึ่งได้แก่ โครงการ DT1&2 กำลังการผลิต 420 MW และโครงการ Phu Yen TTP กำลังการผลิต 257 MW ซึ่งส่งผลให้สิ้นปีนี้มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 2,896 MW
พร้อมคาดอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) ปีนี้จะอยู่ที่ 26% จากปีก่อนทำได้ 24-25% เป็นผลมาจากราคาก๊าซธรรมชาติที่ลดลง เทียบกับค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ที่คงที่ถึงสิ้นปี ทำให้ส่วนต่างราคาเพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยสนับสนุน
ลุ้นภาครัฐเปิดเสรี LNG
ขณะเดียวกันบริษัทคาดหวังให้ภาครัฐมีมาตรการเปิดเสรีซื้อขายก๊าซ LNG เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ประกอบการต่างชาติสนใจที่จะขายก๊าซ LNG ในราคาถูกให้กับบริษัท ซึ่งหากซื้อได้ในต้นทุนถูกก็จะส่งผลดีในแง่ผลประกอบการของบริษัท เพราะบริษัทมีต้นทุนก๊าซ LNG คิดเป็น 70% ของต้นทุนทั้งหมด และปัจจุบันบริษัทรับซื้อก๊าซ LNG จาก บมจ.ปตท.หรือ PTT เพียงรายได้
นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาร่วมลงทุนทำธุรกิจซื้อขายก๊าซ LNG ร่วมกับรัฐบาลเวียดนาม คาดจะเห็นความชัดเจนช่วงกลางปี 63 และบริษัทยังให้ความสนใจที่จะร่วมลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าที่เวียดนามเพิ่มเติม โดยสนใจโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม หลังจากได้ลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไปแล้ว
ศึกษารีไฟแนนซ์หนี้
อย่างไรก็ตาม บริษัทวางงบลงทุนปีนี้ไว้ที่ 1 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้สำหรับรองรับการเข้าซื้อกิจการ และพัฒนาโครงการเดิม และยังศึกษารีไฟแนนซ์หนี้ที่มีอยู่ จากปัจจุบันบริษัทมีหนี้สินประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีการรีไฟแนนซ์ไปแล้วกว่า 3 หมื่นล้านบาท และในช่วง 1-2 ปีหน้า จะทำการรีไฟแนนซ์เพิ่มอีก ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยลดลงเหลือ 4% จากปัจจุบันที่ 4.5%