ท่ามกลางภาวะที่เศรษฐกิจการค้าโลกมีความไม่แน่นอนสูง ทองคำมักเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่ได้รับความนิยม โดยในวันนี้เราจะมาวิเคราะห์ในบริบทของค่าเงินบาทกันนะคะ ราคาทองคำในตลาดโลกเริ่มกลับมาเป็นขาขึ้นอย่างชัดเจนอีกครั้งเมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณจะใช้ความระมัดระวังและอดทนมากขึ้นหลังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งสุดท้ายของวัฎจักรเมื่อเดือนธันวาคม 2561 และนับจากนั้นเป็นต้นมา ภาวะตลาดโลกต้องเผชิญกับคลื่นความปั่นป่วนหลายระลอก อาทิ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนซึ่งรุนแรงและสับสนยิ่งขึ้น กลยุทธ์ค่าเงินอ่อนของหลายประเทศ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรราว 1 ใน 4 ของโลกอยู่ต่ำกว่า 0% รวมถึงความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย จนกระทั่งเฟดพลิกนโยบายสู่การปรับลดดอกเบี้ยไปแล้ว 1 ครั้งในปีนี้ และมีแนวโน้มที่จะหั่นดอกเบี้ยลงอีก ส่วนธนาคารกลางยุโรปได้ปูทางเพื่อนำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing) กลับมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง
หากพิจาณาความสัมพันธ์ของตลาดทองคำและอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท จะพบว่ากลุ่มนักลงทุนทองคำในบ้านเราซื้อขายลักษณะเชิงรุกค่อนข้างสูงและกระทบดุลการค้าของไทย โดยข้อมูลรายเดือนบ่งชี้ว่าในช่วงเวลาที่ราคาทองคำร่วงลง จะมีแรงซื้อ (นำเข้า) ทองคำ ในทางกลับกัน เมื่อราคาทองดีดตัวขึ้นแรง จะมีคำสั่งขาย (ส่งออก) อย่างมีนัยสำคัญ (กราฟด้านล่าง) โดยเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 ซึ่งราคาทองในตลาดโลกใกล้จุดต่ำสุดของรอบ ยอดนำเข้าทองของไทยมีมูลค่าสูงถึง 2.4 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นกว่า 10% ของยอดนำเข้าสินค้าทุกรายการเลยทีเดียว ข้อมูลจาก www.worldstopexports.com บ่งชี้ว่าในปี 2561ไทยติดอันดับ 7 ของประเทศผู้นำเข้าทองสูงสุดในโลก และเป็นหนึ่งในผู้นำเข้าทองคำซึ่งมีอัตราการเติบโตสูงนับตั้งแต่ปี 2557 หรือขยายตัวกว่า 72% ขณะที่ในเดือนมิถุนายน 2562 ซึ่งราคาทองพุ่งขึ้นทะลุแนวต้านสำคัญมุ่งหน้าสู่ระดับสูงสุดในรอบ 6 ปี ปรากฎว่ายอดส่งออกทองคำของไทยในเดือนดังกล่าวอยู่ที่ 1.8พันล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 9% ของมูลค่าส่งออกรวม จริงอยู่ที่ว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์ส่วนใหญ่มักผกผันกับค่าเงินดอลลาร์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่ประเด็นสำคัญในมุมของความผันผวนคือ ค่าเงินบาทมักแข็งขึ้นหรืออ่อนลงมากกว่าสกุลเงินภูมิภาคในช่วงสั้นๆ กรณีราคาทองคำตลาดนิวยอร์คเหวี่ยงตัวขึ้นลง 1-2%ภายในวันเดียว
แม้มีความเชื่อทุกยุคสมัยว่าในระยะยาวโลหะทองคำสามารถคงคุณสมบัติรักษามูลค่าไว้ได้ดีกว่าเงินตรา แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าพลวัตตลาดทองคำในปัจจุบันไม่สอดรับกับการเป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ (Inflation Hedge) เพราะราคาทองทะยานขึ้นทั้งๆ ที่เรากำลังอยู่ในโลกซึ่งเศรษฐกิจหลายประเทศติดหล่มอัตราเงินเฟ้อต่ำผิดปกติไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเชิงโครงสร้างหรือวัฏจักรเศรษฐกิจก็ตาม จนกระทั่งมีการกล่าวกันว่า หากคุณไม่เชื่อว่าผู้ดำเนินนโยบายของธนาคารกลางหลักสามารถควบคุมสถานการณ์ต่างๆ ไว้ได้ (ประสิทธิผลที่ต่ำลงเรื่อยๆ ต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของมาตรการดอกเบี้ยติดลบ พิมพ์เงิน คุมเส้นอัตราผลตอบแทน ฯลฯ) นั่นเป็นเวลาที่ควรเข้าซื้อทองคำ อนึ่ง นอกเหนือจากประเด็นการคาดการณ์นโยบายของเฟด การเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้าออกตลาดเกิดใหม่ และดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในภาพใหญ่แล้ว เราเชื่อว่าค่าเงินบาทจะยังคงได้รับอิทธิพลจากราคาทองคำต่อไป
โดยรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ
ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)