ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน เพิ่มขึ้นหลังสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรบุคคล 10 ราย, เรือบรรทุกน้ำมัน 11 ลำ, และเครือข่ายบริษัท 16 ราย ขณะที่ประธานาธิบดีอิหร่าน นาย Hassan Rouhani ประกาศกลับมาเดินหน้าโครงการนิวเคลียร์ ในวันที่ 6 ก.ย. 62
- Energy Information Administration (EIA) ของสหรัฐฯ รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ เดือน มิ.ย. 62 ลดลงจากเดือนก่อน 33 ,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 12.08 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงติดต่อกัน 2 เดือน
- Census Bureau ของสหรัฐฯ รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบ เดือน ก.ค. 62 ลดลงจากเดือนก่อน 470,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 2.69 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 ส.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 4.8 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 423.0 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดตั้งแต่เดือน ต.ค. 61 ลดลงมากกว่าที่ผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reuters คาดการณ์เกือบสองเท่า
- ICE รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ Brent ในตลาดลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 ก.ย. 62 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 14,097 สัญญา มาอยู่ที่ 242,546 สัญญา
- Baker Hughes Inc. รายงานจำนวน Rig ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 ก.ย. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 4 แท่น มาอยู่ที่ 738 แท่น
ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- พายุเฮอริเคน Dorian ซึ่งมีความรุนแรงถึงระดับ 5 ขณะเข้าสู่เกาะ Bahamas อย่างไรก็ดีพายุไม่เคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวเม็กซิโก ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่สำคัญของสหรัฐฯ ล่าสุดเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งที่มลรัฐ North Carolina ด้วยความรุนแรงระดับ 1 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออุปสงค์น้ำมันบริเวณรัฐ Florida, South Carolina, North Carolina, Georgia และ Alabama
- Reuters คาดว่า OPEC ผลิตน้ำมันในเดือน ส.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 80,000 บาร์เรลต่อวันอยู่ที่ 29.61 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากไนจีเรียและอิรักผลิตเพิ่มขึ้น
- ปัญหาสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน กดดันราคาน้ำมัน วันที่ 1 ก.ย. 62 สหรัฐฯ และจีนต่างเดินหน้าใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเพิ่มเติมระหว่างกัน โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ได้เริ่มเก็บภาษี 15% จากสินค้าจีน เช่น Smart Watch, รองเท้า, ทีวีจอแบน มูลค่าประมาณ 1.25 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่จีนได้เริ่มเก็บภาษี 5% จากน้ำมันดิบนำเข้าจากสหรัฐฯ เช่นกัน อย่างไรก็ดีทั้งสองฝ่ายมีกำหนดนัดเจรจาการค้า ภายในเดือน ต.ค. 62
- กระทรวงพลังงานรัสเซียรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ เดือน ส.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 140,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 11.29 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดตั้งแต่ มี.ค. 61 และสูงกว่าข้อตกลงลดปริมาณการผลิตของกลุ่ม OPEC+ ที่ 11.19 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- CFTC รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดนิวยอร์กและตลาดลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 ก.ย. 62 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับ Net Long Position ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 17,754 สัญญา มาอยู่ที่ 179,301 สัญญา
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นจากนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในสู่ระดับ 1.75% -2.00% ในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 17-18 ก.ย.นี้ หลังจากที่นาย Jerome Powell ประธาน Fed แถลงว่าจะยังคงดำเนินมาตรการที่เหมาะสมต่อไปเพื่อรักษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจ พร้อมทั้งระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกยังไม่มีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย นอกจากนี้ใน วันศุกร์ที่ผ่านมาธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศปรับลดสัดส่วนกันสำรองเงินฝากของธนาคาร (Reserve Requirement Ratio) ลง 0.5% สู่ระดับ 13% ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 62 เพื่ออัดฉีดเงินทุนสำหรับการกู้ยืมมากขึ้น หลังการส่งออกในเดือน ส.ค. 62 ลดลง 1% อย่างไรก็ตาม Commerzbank คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent ในไตรมาสที่ 3/62 ถึง 4/ 63 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยให้เหตุผลว่าซาอุดิอาระเบียต้องการรักษาระดับราคาน้ำมันให้อยู่เหนือระดับดังกล่าว ก่อนการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (Initial Public Offering: IPO) ของบริษัท Saudi Aramco ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุดิอาระเบีย ให้จับตา Brexit ที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษ นาย Boris Johnson เตรียมผลักดันแผนการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป ตามกำหนดเส้นตายเดิมในวันที่ 31 ต.ค. นี้ แม้สมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมพากันลาออกเพื่อแสดงความไม่พอใจที่เขาจะนำอังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปแบบไร้ข้อตกลง หรือ No Deal Brexit ทั้งนี้ รัฐสภาอังกฤษมีกำหนดการลงมติเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งทั่วไปตามข้อเสนอของนายจอห์นสันอีกครั้งในวันนี้ ด้านเทคนิคสัปดาห์นี้คาดว่า ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 59-62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 55-58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 57-60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงจาก บริษัท Korea National Oil Corp. (KNOC) รายงานเกาหลีใต้ส่งออกน้ำมันเบนซินในเดือน ก.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 27 % อยู่ที่ 7.63 ล้านบาร์เรล (230,000 บาร์เรลต่อวัน) สูงสุดตั้งแต่เดือน มิ.ย. 62 ประกอบกับ Platts รายงานโรงกลั่น Dongxing (กำลังการกลั่น 100,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Sinopec และโรงกลั่น Quanzhou (กำลังการกลั่น 240,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Sinochem ในจีนกลับมาดำเนินการหลังเสร็จสิ้นการปิดซ่อมบำรุง ด้านปริมาณสำรอง IES (International Enterprise Singapore) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 4 ก.ย. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 10,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 11.29 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 8 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม บริษัท Indian Oil Corp. (IOC) ของอินเดียมีแผนหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่น Mathura (กำลังการกลั่น 160,000 บาร์เรลต่อวัน) ช่วงเดือน ต.ค.- ธ.ค. 62 และ EIA รายงานปริมาณน้ำมันสำรอง น้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 ก.ย. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2.4 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 229.6 ล้านบาร์เรล ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซิน จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 67-70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงเนื่องจากแรงขายของอินเดีย และญี่ปุ่น ประกอบกับในวันที่ 10 ก.ย. 62 โรงกลั่น Hokkaido (กำลังการกลั่น 150,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Idemitsu Kosan ในญี่ปุ่นจะกลับมาเดินเครื่องหน่วย Desulfurization จำนวน 3 หน่วย (ผลิต Residual : 42,000 บาร์เรลต่อวัน, น้ำมันเบนซิน : 16,500 บาร์เรลต่อวัน, น้ำมันดีเซล: 25,000 บาร์เรลต่อวัน) หลังไฟไหม้ตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค. 62 อย่างไรก็ตาม KNOC Korea National Oil Corp. (KNOC) รายงานเกาหลีใต้รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดีเซล ในเดือน ก.ค. 62 ลดลงจากปีก่อน 6 % อยู่ที่ 17 ล้านบาร์เรล และ Reuters รายงานรัสเซียส่งออกน้ำมันดีเซล (Ultra-low Sulphur Diesel: ULSD) เดือน ก.ย. 62 ลดลงจากเดือนก่อน 13% อยู่ที่ 5.73 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 ด้านปริมาณสำรอง EIA รายงานปริมาณน้ำมันสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 ส.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 133.5 ล้านบาร์เรล และ IES รายงานปริมาณสำรองเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 4 ก.ย. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 320,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 10.93 ล้านบาร์เรล ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 74-77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
www.mitihoon.com