มิติหุ้น – ทิพยประกันภัย ร่วมกับศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และมูลนิธิธรรมดี จัดกิจกรรม “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา เจ้าหญิงนักพัฒนา รักษ์ป่าผืนสุดท้ายแห่งบ้านอ่างเอ็ด จันทบุรี” นำคณะครูจากสถาบันการศึกษาต่างๆทั่วประเทศ มุ่งสู่ โครงการพัฒนาป่าชุมชนบ้านอ่างเอ็ด ตำบลตกพรม อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เพื่อเรียนรู้ศาสตร์พระราชาในการอนุรักษ์ป่าชุมชน พร้อมนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์สร้างนวัตกรรมการเรียนการสอนให้กับเยาวชนต่อไป
คุณวิชชุดา ไตรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “กิจกรรมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการตามรอยพระราชา ซึ่งทิพยประกันภัยได้ร่วมสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 5 ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากมายตลอด 70 ปีที่ทรงครองราชย์ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมดังกล่าวจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้คณะครูในการร่วมกันสานต่อพระราชปณิธาน เข้าใจ เข้าถึง ‘ศาสตร์พระราชา’ พร้อมทั้งร่วมกันสร้างนวัตกรรมการเรียนการสอนและปลูกฝังคุณธรรม 4 ประการ ได้แก่ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา เพื่อสร้างสรรค์เยาวชนที่เพียบพร้อมด้วยความรู้และคุณธรรม
“ทิพยประกันภัยมีความมุ่งมั่นในการสืบสานศาสตร์พระราชาผ่านการจัดกิจกรรม ‘ตามรอยพระราชา’ อย่างต่อเนื่อง ด้วยปณิธานในการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรม บริหารงานภายใต้หลักธรรมมาภิบาลโดยมุ่งมั่นพัฒนาองค์กรและการให้บริการอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการสนับสนุน พัฒนา และรับผิดชอบต่อส่วนรวมครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาบุคลากรในแขนงต่างๆ เพื่อความเจริญยั่งยืนของสังคมไทย”
ในกิจกรรมครั้งนี้ คณะครูได้เดินทางสู่โครงการพัฒนาป่าชุมชนบ้านอ่างเอ็ด ในพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นโครงการเพื่อพัฒนาที่ดินจำนวน 168.25 ไร่ที่ครอบครัวลักคุณะประสิทธิ์มอบให้มูลนิธิชัยพัฒนา ให้เป็นป่าชุมชนและเป็นแหล่งศึกษาท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ อีกทั้งร่วมกับโรงเรียนในพื้นที่ในการให้ความรู้แก่นักเรียนในเรื่องสัตว์ป่าและพันธ์ไม้ต่างๆ โดยเน้นการมีส่วนร่วมแบบรุ่นพี่สอนรุ่นน้อง สนับสนุนการรวมกลุ่มเยาวชนปลูกพันธุ์ไม้ท้องถิ่น สมุนไพรพื้นบ้านต่างๆ เพื่ออนุรักษ์พืชพันธุ์ในท้องถิ่น มีการประชาสัมพันธ์โครงการผ่านระบบสารสนเทศ เพื่อสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าชุมชน โดยให้นักเรียนในพื้นที่รายงานผ่านเจ้าหน้าที่โครงการเข้ามายังมูลนิธิชัยพัฒนา รวมถึงจัดหาที่ดินให้ราษฎรเพื่อช่วยดูแลโครงการ คณะครูยังได้ร่วมกิจกรรมที่ฐานกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ 1. ตามรอยเส้นทางเสด็จ เดินป่าศึกษาสมุนไพร ร่วมพิธีบวชป่าและรับความรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน 2. ฝึกร่อนพลอย และ 3. ทำผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ คือ กระดาษจากต้นกล้วย น้ำมันเหลือง แชมพูมะกรูด น้ำสมุนไพร
จากนั้นคณะครูเดินทางต่อไปยังอู่ต่อเรือพระเจ้าตาก หรือ อู่ต่อเรือเสม็ดงาม เพื่อสักการะพระบรมราชานุสรณ์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พร้อมฟังประวัติของอู่ต่อเรือแห่งนี้จากนายนิพนธ์ หนองริมบ้าน ประธานมูลนิธิอู่ต่อเรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อู่ต่อเรือแห่งนี้สันนิษฐานว่าเป็นสถานที่ซึ่งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชใช้เป็นอู่ต่อเรือเมื่อครั้งเตรียมยกทัพไปตีพม่าเพื่อกู้เอกราชสยามเมื่อ พ.ศ.2310 หน่วยโบราณคดีใต้น้ำ กองโบราณคดี กรมศิลปากร ได้ขุดพบซากเรือและตรวจสอบชั้นดินตามริมฝั่งอ่าว พบแอ่งน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าลักษณะคล้ายอู่เรืออยู่หลายแห่ง พร้อมทั้งส่วนประกอบต่างๆ ของเรือโบราณ และสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเรือสำเภาจีนแบบฟูเจียนขนาดเล็กสำหรับบรรทุกสินค้า มีใบสามเถาขนาดเรือยาว 24 เมตร กว้าง 5 เมตร บริเวณใกล้เคียงมีโรงเก็บเรือจำลองและเรือของชาวบ้านที่เคยใช้กันในอดีต
เมื่อเก็บเกี่ยวความรู้กันอย่างเต็มที่แล้วจึงเข้าสู่กิจกรรมถอดบทเรียน นำโดยนายอดุลย์ ดาราธรรม วิทยากรจิตอาสาจากสมาคมนักเรียนเก่าเอเอฟเอส (TRAFS) ผ่านเกมกระดานสื่อการเรียนรู้ 3 แบบ ได้แก่ “Game of Our Nation” ที่สอดแทรกคุณธรรม 4 ประการ คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา “The Medici Effect 9” ถอดบทเรียนและต่อยอดสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมจากกิจกรรมตามรอยพระราชา และ “The King’s Journey LearnEnglish an Example of an Invention” เรียนรู้ภาษาอังกฤษจากหนังสือชุด King Bhumibol Adulyadej of Thailand ร่วมด้วย ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด
ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย กล่าวว่า “คณะที่ร่วมกิจกรรมเดินทางตามรอยพระราชานอกจากจะได้รับคู่มือการเรียนรู้ควบคู่การท่องเที่ยวแล้ว ยังได้รับชุดหนังสือภาษาอังกฤษ “King Bhumibol Adulyadej of Thailand” จำนวน 3 เล่ม ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชประวัติ พระราชจริยวัตร และพระอัจฉริยภาพของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เพื่อนำไปถ่ายทอดแก่นักเรียนผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ให้เด็กไทยสามารถตอบชาวต่างชาติด้วยความภูมิใจว่า ทำไมคนไทยถึงรักพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทั้งยังให้ข้อคิดในการใช้ชีวิตให้แก่เยาวชนคนรุ่นหลัง เพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เต็มเปี่ยมด้วยคุณธรรม”
โครงการ “ตามรอยพระราชา” จัดโดยศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด มูลนิธิธรรมดี และสำนักพิมพ์ดีเอ็มจี นำเสนอเส้นทางศึกษาเรียนรู้ 9 เส้นทาง 81 แหล่งเรียนรู้มีชีวิตตามรอยศาสตร์พระราชา เพื่อให้เยาวชน นักเรียน นักศึกษา และองค์กรต่างๆ ร่วมเดินทางลงพื้นที่เรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามรอยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทยและเป็นแบบอย่างของคนทั่วโลก โดยมีกิจกรรมเสริมทักษะภายในพื้นที่โครงการต่างๆ เพื่อเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้กับเยาวชน และทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เข้าใจสิ่งที่พระองค์ทรงทำเพื่อพสกนิกรอย่างถ่องแท้มากยิ่งขึ้น
www.mitihoon.com