มิติหุ้น-ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะผู้กำหนดนโยบายกำลังเผชิญความท้าทายอย่างยิ่งในการดำเนินนโยบายทางการเงิน เหมือนกำลังยืนอยู่บนทางแยกที่ต้องเลือกว่าจะไปทางใด ทางหนึ่งคือการลดดอกเบี้ยสนับสนุนเศรษฐกิจให้โต เงินเฟ้อเร่งขึ้น และหวังลึกๆ ว่าจะช่วยให้เงินบาทอ่อนค่าได้บ้าง และอีกทางหนึ่งคือคงดอกเบี้ยไว้เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงิน เพื่อไม่ให้ดอกเบี้ยต่ำนานหรือลดลงอีก เพราะคนจะยิ่งไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงและอาจเกิดภาวะฟองสบู่ที่ควบคุมยากในอนาคต
สำนักวิจัยฯ คาดการณ์ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินน่าจะประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งถัดไป วันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 จากปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.5% ลดเหลือ 1.25% เนื่องจากเห็นแนวโน้มตัวเลขและเหตุการณ์ในอนาคตส่งสัญญาณที่อาจนำไปสู่การตัดสินใจลดดอกเบี้ย
อนึ่ง นโยบายการเงินพิจารณาสามปัจจัยสำคัญ นั่นคือ การเติบโตทางเศรษฐกิจ ราคาสินค้า และเสถียรภาพทางการเงิน ตอนนี้เศรษฐกิจไทยกำลังชะลอตามภาวะเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้การส่งออกหดตัวต่อเนื่อง กระทบการลงทุนและการบริโภคในประเทศ วันนี้ มีสองในสามปัจจัยที่ส่งสัญญาณว่ากนง. อาจปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมรอบหน้า คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจ และราคาสินค้า เป็นที่แน่ชัดว่าเศรษฐกิจไทยชะลอตัวต่ำกว่าศักยภาพ ธปท.เองได้ออกมาปรับประมาณการลงต่อเนื่อง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อต่ำ เดือนสิงหาคมเงินเฟ้อหลุดกรอบล่างที่ร้อยละ 1 และมีแนวโน้มต่ำต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากราคาน้ำมัน ส่วนหนึ่งเกิดจากความเสี่ยงที่มาจากอุปสงค์อ่อนแอ
นอกจากตัวเลขเศรษฐกิจชะลอที่เกิดขึ้นแล้ว นโยบายการเงินจะพิจารณาแนวโน้มตัวเลขและเหตุการณ์ในอนาคตด้วย อย่างที่เห็นในการประชุมเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ไม่ได้มีสัญญาณการลดดอกเบี้ยหรือเสียงแตกจากคณะกรรมการกนง. ในรอบก่อนหน้า แต่สุดท้ายกนง.ปรับลดดอกเบี้ยลง ซึ่งน่าจะมาจากแนวโน้มตัวเลขและเหตุการณ์ในอนาคต ประกอบด้วย ปัจจัยความเสี่ยงจากการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐจากจีน แม้ยังไม่เกิดขึ้นในเดือนนั้น แต่มีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจในอนาคต เปรียบเหมือนดูกระจกมองหลังเวลาขับรถไปข้างหน้า ดูให้รู้ว่ามีสัญญาณอะไรหรือใช้เปลี่ยนเส้นทางและดูข้างหน้าเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาความเร็วว่าจะแตะเบรกหรือขึ้นดอกเบี้ยหากเศรษฐกิจวิ่งแรงเกินไป หรือจะเหยียบคันเร่งหรือลดดอกเบี้ยให้เศรษฐกิจเร่งขึ้น
ขณะที่การประชุม ในรอบปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา กนง.คงดอกเบี้ยอาจเพราะยังห่วงเสถียรภาพในตลาดการเงิน ที่นักลงทุนยังเข้าลงทุนโดยไม่ได้ประเมินความเสี่ยงดีพอ และการเข้าลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงๆ ขณะที่หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น หนี้เสียมีมากโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง-เล็ก
“ผมเห็นใจผู้กำหนดนโยบายที่กำลังยืนอยู่บนทางแยกว่าจะเลือกเดินทางไหนดี เพราะเมื่อมองไปข้างหน้าล้วนมีความเสี่ยงให้เศรษฐกิจโตช้าลง ไม่เพียงสงครามการค้าที่ยังคงลากยาวและอาจรุนแรงขึ้น ขณะที่อุปสงค์ในประเทศมีท่าทีชะลอลง โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนที่มาช้า และไทยมีความเสี่ยงที่จะตกขบวนรถไฟของการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาอาเซียน เพราะบริษัทข้ามชาติเหล่านั้นอาจเลือกเวียดนามแทน” ดร.อมรเทพ กล่าว
นอกจากนี้ เมื่อสงครามการค้าที่ลากยาวส่งผลกระทบการส่งออกให้หดตัว ผู้ผลิตลดกำลังการผลิต ชั่วโมงการทำงานถูกตัด และรอบนี้ไม่เพียงภาคบริการและอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอ เพราะภาคเกษตรเองก็ไม่แข็งแรง จากภัยธรรมชาติทั้งฝนแล้งและน้ำท่วมในหลายจังหวัดได้มีผลต่อปริมาณการผลิตและรายได้ภาคเกษตร แม้เงินช่วยเหลือจากภาครัฐจะมีแต่ก็ทำได้เพียงประคองกำลังซื้อเขาไว้ เราอาจรอผลมาตรการกระตุ้นการบริโภคแต่อาจมีไม่มากเพราะงบประมาณภาครัฐเองก็มีจำกัด อีกทั้งงบประมาณปี 2563 ที่ปกติจะเริ่มวันนี้ก็มีความจำเป็นต้องรอให้ผ่านสภาฯ ในช่วงต้นปีหน้า
ขณะที่ปัจจัยสำคัญคือบาทแข็งค่าแรงยังคงกดดันและกระทบผู้ส่งออก แต่การที่บาทแข็งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เราเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง เป็นที่สนใจของนักลงทุนที่มาพักเงินในช่วงความผันผวนมีมาก ซึ่งการลดดอกเบี้ยลงน่าจะลดแรงจูงใจนักลงทุนต่างชาติได้บ้าง
ด้านเสถียรภาพ ที่ผ่านมาทางธปท. ได้มีมาตรการดูแลคุณภาพสินเชื่อ และต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะเกณฑ์สินเชื่อบ้าน และน่าจะลดพฤติกรรมเก็งกำไรได้มาก แต่ต้องเข้าใจว่าแม้ลดดอกเบี้ยไป สินเชื่อก็อาจไม่ได้ขยายตัวแรง เพราะธนาคารพาณิชย์ยังคงกังวลต่อคุณภาพสินเชื่อและมีข้อกำกับมากมาย แต่ก็น่าจะคลายความกังวล ลดต้นทุนทางการเงิน และสร้างความเชื่อมั่นได้บ้าง
หลังจากกนง. ลดดอกเบี้ยลงมาอยู่ที่ 1.25% แล้ว อย่าเชื่อว่าดอกเบี้ยต่ำสุดได้เพียง 1.25% ภาพจำว่าดอกเบี้ยต่ำสุดคือ 1.25% มาจากในช่วงวิกฤติการเงินโลก กนง. ลดดอกเบี้ยจากระดับร้อยละ 3.75 ปลายปี 2551 ลงสู่ระดับร้อยละ 1.25 ในเดือนเมษายนปีถัดมา หลังจากนั้น ในช่วงไตรมาสที่สองปี 2552 เศรษฐกิจไทยหดตัวถึงร้อยละ 3.1 แต่ถึงขั้นนั้น กนง. ก็ไม่ได้ลดดอกเบี้ยลงอีก ยังคงที่ 1.25% ส่วนหนึ่งอาจเพราะภาวะเศรษฐกิจที่มีการฟื้นตัวได้เร็ว ก็อาจสนับสนุนได้ว่าดอกเบี้ยต่ำเพียงพอในการประคองเศรษฐกิจในขณะนั้น อย่างไรก็ดี เราไม่เชื่อว่าดอกเบี้ยไทยจะลงไปต่ำกว่า 1.25% ไม่ได้ แม้วันนี้ไม่ใช่ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ แต่อยู่ในจุดที่อาจไม่จำเป็นต้องให้ดอกเบี้ยอยู่ในระดับเช่นในอดีตคือ 1.25%
“ผมมองว่าในภาวะที่ตลาดการเงินโลกมีปริมาณเงินที่หมุนเวียนในระบบมาก โดยเฉพาะหลังธนาคารกลางสำคัญได้ใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณและขยายงบดุลของธนาคารกลางมาก่อนหน้า เราจึงไม่อาจมองภาพนโยบายการเงินวันนี้เทียบอดีตได้ แต่ผมยังหวังว่าเรายังไม่ต้องลดดอกเบี้ยลงอีก และอาจใช้มาตรการอื่น โดยเฉพาะมาตรการทางการคลังแทน แต่ภาวะความเสี่ยงดอกเบี้ยขาลงเช่นนี้ ผู้ฝากเงินน่าจะล็อกเงินฝากระยะยาว ผู้กู้ใช้ดอกเบี้ยลอยตัว ขณะที่ระวังการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงไว้บ้างตามภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่มีผลต่อกำไรบริษัท แต่เมื่อสภาพคล่องมีสูงขึ้น ก็อาจทำให้สินทรัพย์เสี่ยงมีความน่าสนใจได้อีกครั้ง” ดร.อมรเทพ กล่าว