ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.สแกน อินเตอร์ หรือ SCN ประกอบธุรกิจก๊าซธรรมชาติและธุรกิจเกี่ยวเนื่องครบวงจร โดยนายฤทธี กิจพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เปิดเผยว่า บริษัทได้ร่วมมือสองพันธมิตร 2 ราย คือ บริษัท ไทย แอดวานซ์ โซลาร์ จำกัด และบริษัท พร้อมพาวเวอร์ จำกัด ที่มีความชำนาญด้านโซลาร์ รูฟท็อป จัดตั้ง “บริษัท สแกน แอดวานซ์ พาวเวอร์ จำกัด” โดยมีสัดส่วนการลงทุนอยู่ที่ SCN 51% TAS 24% และ PP 25% มุ่งเน้นพัฒนาและผลิตพลังงานสะอาดขึ้นมาเพื่อเข้าร่วมลงทุนในสัญญาซื้อขายไฟภาคเอกชน (Private PPA) และสัญญาเช่าโครงการโซลาร์รูฟท็อปอย่างไม่จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท
ขณะเดียวกันบริษัทได้ลงนามซื้อขายไฟฟ้าภาคเอกชนกับผู้ประกอบการแล้ว จำนวน 4 MW ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 100 ล้านบาท เบื้องต้นคาดจะสามารถจำหน่ายไฟเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ภายในไตรมาส 1/63 โดยตั้งเป้าหมายภายในปี62 จะมียอดการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป จำนวน 10 MW ซึ่งปัจจุบันยังมีผู้ประกอบการที่ให้ความสนใจและอยู่ในระหว่างการเจรจาอีกหลายราย
ทั้งนี้ การดลงนามซื้อขายไฟฟ้า 4MW กับผู้ประกอบการภาคเอกชน ประกอบด้วย 8 บริษัท คือ 1.บริษัท เค.เค.บี บ้านโป่ง จำกัด ขนาดกำลังผลิตที่ 611.04 กิโลวัตต์, 2.บริษัท ณฐาภพ จำกัด ขนาดกำลังผลิตที่ 271.35 กิโลวัตต์, 3.บริษัท ไทยสตาร์ โพลีฟิล์ม จำกัด ขนาดกำลังผลิตที่ 361.8 กิโลวัตต์, 4.บริษัท เซ็นไทย พลาสติก จำกัด ขนาดกำลังผลิตที่ 410.04 กิโลวัตต์ 5.บริษัท ดาต้า เพาเวอร์ จำกัด ขนาดกำลังผลิตที่ 284.8 กิโลวัตต์, 6.บริษัท ยาชิโยดา อัลลอย วีล จำกัด ขนาดกำลังผลิตที่ 621.6 กิโลวัตต์, 7.บริษัท ระยอง สตาร์ จำกัด ขนาดกำลังผลิตที่ 876.96 กิโลวัตต์ และ 8.บริษัท แจ่มฟ้า ช้อปปิ้งมอลล์ จำกัด ขนาดกำลังผลิตที่ 749.7 กิโลวัตต์
อย่างไรก็ตาม ในปี 63 บริษัทตั้งเป้าจะมีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มเป็นจำนวน 20 เมกะวัตต์ ซึ่งจะส่งผลให้สัดส่วนรายได้ของ SCN จากธุรกิจโซลาร์เพิ่มเป็น 10% จากปัจจุบันที่ยังไม่มีรายได้จากธุรกิจดังกล่าว ขณะที่ในปี64 จะมีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มเป็นจำนวน 30 เมกะวัตต์ และในปี65 จะมีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มเป็นจำนวน 50 เมกะวัตต์
โดยการดำเนินงานดังกล่าวเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 65 จะมีขนาดการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปรวม 110 MW หรทอคิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 3,300 ล้านบาท ซึ่งบริษัทจะมีรายได้จากการขายไฟฟ้า โดยขนาดกำลังการผลิต 1 เมกะวัตต์ จะมีรายได้ประมาณ 30 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มลูกค้าเป้าหมายจะเป็นผู้ประกอบการที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงในช่วงกลางวัน เช่น ภาคธุรกิจโรงแรม, โรงงานอุตสาหกรรม, โรงพยาบาล และโรงเรียน เป็นต้น
www.mitihoon.com