มิติหุ้น- บี.กริม เพาเวอร์ ผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนชั้นนำของไทย มั่นใจนักลงทุนสนใจจองซื้อหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ที่จะเสนอขายแก่ผู้ลงทุนทั่วไปในระหว่างวันที่ 19-21 พ.ย.นี้ ยันไม่กระทบจากมาตรฐานบัญชีใหม่ ชูจุดแข็งของธุรกิจอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับภาครัฐระยะยาวและมีรายได้ที่มั่นคง เผยการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ในครั้งนี้เพื่อรองรับแผนการเติบโตอย่างมีศักยภาพในอนาคต จากการขยายโรงไฟฟ้าเพิ่มทั้งในไทยและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ขณะที่บริษัทฯ เชื่อว่าทั้งความมั่นคงของธุรกิจในระยะยาว รวมถึงความมั่นคงและวินัยทางการเงินที่ดี จะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน ในการสร้างผลตอบแทนช่วง 5 ปีแรกที่ 5% ต่อปี ซึ่งเป็นที่น่าพอใจและเหมาะสมในภาวะนี้
นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (หรือ BGRIM) ผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนชั้นนำของไทย เปิดเผยว่า บริษัทฯ เชื่อว่า หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนของ BGRIM ที่จะออกและเสนอขายมูลค่า 6 พันล้านบาท พร้อมส่วนสำรองเสนอขายอีกไม่เกิน 2 พันล้านบาท รวม 8 พันล้านบาท ที่จะเสนอขายให้แก่นักลงทุนทั่วไปในระหว่างวันที่ 19-21 พ.ย.นี้ จะได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการที่หุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ BBB+ และอันดับความน่าเชื่อถือองค์กรที่ระดับ A แนวโน้ม “คงที่” จากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ซึ่งเป็นระดับลงทุนได้หรือ Investment Grade การกำหนดผลตอบแทนในช่วง 5 ปีแรกอยู่ที่ 5% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราผลตอบแทนที่น่าพอใจ และการที่บริษัทฯ อยู่ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับภาครัฐระยะยาวและมีรายได้ที่มั่นคง มีโอกาสในการเติบโตในอนาคตอย่างไม่หยุดยั้งจากความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ
ส่วนกรณีที่นักลงทุนมีความกังวลเกี่ยวกับการใช้มาตรฐานการบัญชีใหม่ TAS 32 ที่ส่งผลกระทบกับบริษัทที่ออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนฯ นั้น บริษัทฯ ขอชี้แจงให้ทราบว่า บริษัทฯ ได้คำนึงถึงผลกระทบจากการนำมาตรฐานการบัญชีใหม่มาใช้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น หุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ของ BGRIM ที่จะออกและเสนอขายในครั้งนี้ จึงมีข้อกำหนดเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่จะจัดประเภทเป็นทุนทางบัญชีภายใต้มาตรฐานการบัญชีใหม่ได้ทั้งจำนวน
ทั้งนี้ บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) เป็นหนึ่งในธุรกิจหลักภายใต้กลุ่ม บี.กริม ซึ่งดำเนินธุรกิจเคียงคู่กับประเทศไทยมายาวนานกว่า 140 ปี และเป็นผู้บุกเบิกการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลายด้าน รวมถึงเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายแรกๆ ของประเทศไทย ภายใต้ BGRIM ซึ่งดำเนินธุรกิจไฟฟ้ามายาวนานกว่า 20 ปี ในปัจจุบัน BGRIM มีกำลังการผลิตที่มาจากโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศราว 75% และในต่างประเทศราว 25% โดยบริษัทฯ มีเป้าหมายที่จะขยายกำลังการผลิตเป็น 5,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2565 จากปัจจุบันที่มีโครงการโรงไฟฟ้าทั้งหมดรวมโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและพัฒนาทั้งหมด 56 โครงการ กำลังการผลิตรวม 3,245 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทยอยเปิดให้ดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในปี 2568
“นอกจากจะอยู่ในอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีความจำเป็นแล้ว เรายังมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการโครงการโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานรวมถึงมีความมั่นคงทางกระแสเงินสด จากการทำสัญญาขายไฟฟ้าระยะยาว 20-25 ปีกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) รวมถึงการไฟฟ้าลาว และการไฟฟ้าเวียดนาม และมีสัญญาขายไฟฟ้าและไอน้ำกับโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมชั้นนำในประเทศไทย 6 แห่ง ซึ่งมีอายุสัญญาประมาณ 10-15 ปี จากความมั่นคงของธุรกิจและกระแสเงินสด รวมถึงผลตอบแทนของหุ้นกู้ในระดับที่น่าพอใจ จะทำให้นักลงทุนมั่นใจและสนใจที่จะเข้าลงทุนในหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนของบริษัทฯ ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจและเหมาะกับการลงทุนในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ และภาพรวมการลงทุนยังมีความผันผวนจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ กล่าว
ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562 ต้นทุนทางการเงินของบริษัทฯ ลดลงมาที่ระดับ 4.5% จากการบริหารจัดการโครงสร้างทางการเงินของบริษัทฯ โดยมีสัดส่วนหนี้สินสุทธิต่อส่วนของเจ้าของที่ 1.6 เท่า ตามงบการเงินรวมของบริษัทฯ โดยหนี้สินสุทธิส่วนมากของบริษัทฯ กว่า 70% เป็นหนี้สินสุทธิระดับโครงการหรือบริษัทย่อยของบริษัทฯ ซึ่งบริษัทฯ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และมีอำนาจควบคุม จึงมีการรวมทรัพย์สินและหนี้สินของบริษัทย่อยในงบการเงินรวมของบริษัทฯ ซึ่งหนี้สินระดับโครงการเป็นการกู้เงินในรูปแบบของเงินกู้โครงการ (Project Finance) ที่ภาระผูกพันของผู้ถือหุ้นมีจำกัด (Limited Recourse) และหากพิจารณาในระดับของงบการเงินเฉพาะกิจการ บริษัทฯ มีสัดส่วนหนี้สินสุทธิต่อส่วนของเจ้าของ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562 เพียง 0.9 เท่า