ก่อนปี 2560 กิจการมีการระดมทุนวงกว้างผ่านการออกและเสนอขายตั๋วเงินระยะสั้น แต่นำเงินไปลงทุนในโครงการระยะยาว (maturity mismatch) และต่ออายุตราสาร (rollover) ขณะที่ตัวกลางที่ให้บริการเสนอขายตราสารหนี้ขาดการให้คำแนะนำแก่ผู้ลงทุนอย่างเหมาะสม รวมทั้งเกิดการผิดนัดชำระหนี้ในผู้ออกบางรายมูลค่ารวมประมาณ 15,033 ล้านบาท คิดเป็น 0.4% ของมูลค่าคงค้าง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2560
ก.ล.ต. จึงได้ปรับปรุงประกาศเพื่อจำกัดการออกและเสนอขายตั๋วเงินเพื่อระดมทุนวงกว้าง แยกการกำกับดูแลผู้ลงทุนรายใหญ่ออกจากผู้ลงทุนสถาบันเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนรายใหญ่ให้ได้รับคำแนะนำ และข้อมูลที่สำคัญประกอบการตัดสินใจลงทุนมากขึ้น รวมถึงเพิ่มมาตรฐานการปฏิบัติงานของตัวกลาง โดยหน่วยงานให้บริการออกตราสารหนี้ต้องคัดกรองสินค้าและแยกออกจากหน่วยงานขายอย่างชัดเจน ในขณะที่คนขายต้องเข้าใจลักษณะและความเสี่ยงตราสารหนี้เพื่อให้คำแนะนำที่เหมาะสมแก่ลูกค้า ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 ที่ผ่านมา
จากการแก้ไขกฎเกณฑ์ดังกล่าว ส่งผลให้การระดมทุนด้วยตั๋วเงิน (unrated BE) ลดลงอย่างมาก โดย ณ สิ้นปี 2559 มีมูลค่า 133,736 ล้านบาท ขณะที่ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 มีมูลค่า 30,466 ล้านบาท การออก ตราสารหนี้ของบริษัทในกลุ่ม unrated และ non-investment grade (ตราสารหนี้กลุ่มเสี่ยง) ลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงจำนวนผู้ออกก็ลดลงจาก 426 ราย (มูลค่าคงค้าง 256,316 ล้านบาท) ณ สิ้นปี 2560 เหลือ 318 ราย (มูลค่าคงค้าง 222,924 ล้านบาท) ณ สิ้นปี 2561
อย่างไรก็ดี ก.ล.ต. ยังพบว่า โครงสร้างตลาดตราสารหนี้ยังมีความอ่อนไหวในบางจุด อาทิ การออกและเสนอขายตราสารหนี้กลุ่มเสี่ยงแก่ผู้ลงทุนรายบุคคล รวมถึงผู้สูงอายุ และมากกว่าครึ่งขายผ่านช่องทางการเสนอขายต่อผู้ลงทุนไม่เกิน 10 ราย ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้ข้อบังคับต้องเปิดเผยข้อมูลต่อผู้ลงทุน และกรณีเสนอขายต่อผู้ลงทุนรายใหญ่ก็มีปัญหาการเปิดเผยข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่ตรงประเด็น และล่าช้า ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ลงทุนที่ไม่เข้าใจความเสี่ยงของตราสารหนี้เข้ามาลงทุน และสร้างกลไกให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลสำคัญที่เป็นปัจจุบัน รวมถึงมีช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น ก.ล.ต. จึงได้ปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแลตลาดตราสารหนี้อีกครั้งในปี 2562 ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. และคณะกรรมการกำกับตลาดทุนแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็น คาดว่าจะออกเกณฑ์ได้ภายในต้นปี 2563 สรุปได้ดังนี้
- จำกัดประเภทผู้ลงทุนที่จะเข้าถึงช่องทางการเสนอขายในวงจำกัดไม่เกิน 10 ราย ซึ่งเป็นช่องทางที่ไม่บังคับให้เปิดเผยข้อมูล โดยให้เสนอขายได้เฉพาะผู้ลงทุนที่รู้จักบริษัทเป็นอย่างดี หรือสามารถเข้าถึงข้อมูล และประเมินความเสี่ยงของบริษัทได้ ได้แก่ กรรมการ ผู้บริหารของผู้ออกตราสารหนี้ และผู้ลงทุนสถาบัน
- เดิมเกณฑ์การออกและเสนอขายตราสารหนี้ต่อผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่เป็นเกณฑ์เดียวกัน อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนรายใหญ่มีความเข้าใจน้อยกว่าผู้ลงทุนสถาบัน ก.ล.ต. จึงปรับปรุงเกณฑ์การออกและเสนอขายต่อผู้ลงทุนรายใหญ่เพื่อให้ความคุ้มครองใกล้เคียงกับผู้ลงทุนทั่วไป
- ปรับปรุงรอบการนำส่งงบการเงินของผู้ออกตราสารหนี้จากเดิมทุกรอบปี เป็นทุกรอบครึ่งปี เพื่อให้ผู้ลงทุน มีข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน
- ปรับปรุงสรุปข้อมูลสำคัญของตราสารหนี้ (factsheet)ให้กระชับ มีเฉพาะข้อมูลที่จำเป็น รูปแบบน่าอ่าน เข้าใจง่าย และเปรียบเทียบความเสี่ยงระหว่างตราสารได้ง่ายขึ้น
- กำหนดหน้าที่ให้ผู้ออกตราสารหนี้และนายทะเบียนหลักทรัพย์ต้องรายงานการผิดนัดชำระหนี้ต่อผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อให้มีข้อมูลในการจัดการเมื่อเกิดการผิดนัดชำระหนี้รวดเร็วขึ้น
นอกจากนี้ เพื่อช่วยให้ผู้ลงทุนมีช่องทางการเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น และมีข้อมูลที่เปรียบเทียบกันได้ ก.ล.ต. จึงได้พัฒนาด้านการให้บริการข้อมูลที่เปิดเผยเป็นการทั่วไปอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ลงทุนสามารถดูข้อมูลการออกตราสารหนี้เป็นรายอุตสาหกรรม รายบริษัท และตราสารรายตัวได้ผ่านเว็บไซต์ ก.ล.ต. https://market.sec.or.th/public/idisc/th/ViewMoreCMR/bondfile และเปิดเผยมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ทั้งหมดเป็นรายบริษัทให้ผู้ลงทุนทั่วไปเรียกดูได้ https://market.sec.or.th/public/idisc/th/Product/DebtOutstanding
แนวคิดการปรับปรุงกฎเกณฑ์และการให้บริการข้อมูลที่กล่าวข้างต้นเป็นการปรับให้เกิดความสมดุล โดยคำนึงถึงทั้งฝั่งผู้ระดมทุนและผู้ลงทุน ก.ล.ต. อยากให้ผู้ลงทุนในตลาดตราสารหนี้ศึกษาข้อมูลให้เข้าใจถึงความเสี่ยงและผลตอบแทน ใช้ความระมัดระวังในการตัดสินใจ และอย่าลืมจัดสรรการลงทุนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ตนเองสามารถรองรับได้
โดย นางสาวจอมขวัญ คงสกุล, CFA CAIA ผู้ช่วยเลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
ทีมโฆษก และฝ่ายตราสารหนี้