AOT ส่อวืด! แผนชุบมือเปิบสนามบินภูธรเคว้ง!

410

ยังคงเป็นประเด็นสุดฮอต เป็น Talk of the Town

กับเรื่องที่กระทรวงคมนาคมมีนโยบายจะให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) หรือ AOT รับโอนสนามบินในภูมิภาคที่มีศักยภาพจำนวน 4 แห่งจาก 28 แห่งจากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ประกอบด้วยสนามบินอุดรธานี,ตาก,กระบี่และสนามบินบุรีรัมย์ เพื่อให้ AOT บริหารจัดการ ด้วยข้ออ้างเพื่อเชื่อมโยงเส้นทางบินระหว่างประเทศและพัฒนาศักยภาพของสนามบินภูธรเหล่านี้ให้เป็นสนามบินอินเตอร์รองรับนโยบาย Airport Cluster

“ถาวร” ขวาง AOT ฮุบสนามบินภูธร!

เส้นทางปั้นสนามบินภูธรสู่อินเตอร์เพื่อเพิ่ม Port ให้กับ AOT จ่อจะไปไม่ถึงใันเมื่อนายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม จากพรรค ปชป. ที่กำกับดูแลกรมท่าอากาศยาน (ทย.)ได้ออกโรงคัดง้างนโยบายดังกล่าวอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ด้วยเห็นว่า ทย.เอง ก็มีศักยภาพเพียงพอที่จะบริหารสนามบินเหล่านี้ได้ โดยไม่มีความจำเป็นต้องยกให้ทอท.บริหาร และการโอนสนามบินของทย.ไปให้ทอท. ยังต้องพิจารณาปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งจากการตรวจสอบแล้วไม่สามารถทำได้

นอกจากนี้ ในแง่การให้บริการ ก็มั่นใจว่า ทย.มีความเป็นมืออาชีพในการบริหารสนามบินเช่นกัน แต่หากทอท.ต้องการเข้ามาบริหาร ก็ต้องดูต่อไปว่า จะเข้ามาอย่างไร? ต้องเปิดกว้างหรือไม่ เพราะหากจะเปิดให้เอกชนเข้ามาบริหารแล้ว นอกจาก ทอท.แล้ว ยังมีเอกชนอีกหลายรายที่แสดงความสนใจเช่นกัน

ไม่เพียงออกโรงคัดง้าง รมช.คมนาคม จาก ปชป.ยังโชว์แผนพัฒนาสนามบินภูธรในความรับผิดชอบของ ทย.ในระยะ 10 ปี วงเงิน 3.7 หมื่นล้านบาท โดยในปี 63 ทย.มีงบลงทุนประมาณ 6,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 คาดว่าจะเหลือเวลาในการใช้จ่ายประมาณ 8 เดือน ก่อนสิ้นปีงบประมาณ ดังนั้น จึงให้ ทย. เตรียมกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างไว้ให้พร้อม เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ทันทีที่ได้รับงบประมาณ

AOT เอาใจการเมืองสุดลิ่ม!

หากทุกฝ่ายจะได้พิจารณาแนวนโยบายของกระทรวงคมนาคมในการผลักดันให้ AOT เข้าไปรับโอนสนามบินภูธรมาบริหารจะเห็นได้ว่า มีการผลักดันนโยบายดังกล่าวมานานนับทศวรรษแล้ว โดยก่อนหน้านี้กระทรวงคมนาคมถึงกับจะให้ AOT รับโอนไปทั้ง 26 สนามบินด้วยซ้ำ

ก่อนจะปรับแผนรับโอนลงมาเหลือ 10-12 สนามบิน และล่าสุดได้ปรับแผนลงเหลือเพียง 4 สนามบินนำร่องคือ สนามบินอุดรธานี, ตาก, สกลนคร และสนามบินชุมพร ก่อนที่บอร์ด AOT เมื่อ 21  สิงหาคม 62 จะพิจารณาปรับเปลี่ยน 2 สนามบินหลัง (สนามบินสกลนครและชุมพร) มาเป็นสนามบินกระบี่ และบุรีรัมย์แทน โดยอ้างเพื่อให้เป็นสนามบินสำรองของสนามบินหลักของ ทอท.

หลายฝ่ายแสดงความเห็น การปรับแผนรับโอนสนามบินภูธรข้างต้น เป็นเพียงการเอาใจการเมือง หลังการปรับเปลี่ยนรัฐบาลและรัฐมนตรีที่กำกับดูแล ทอท. และกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เท่านั้น เพื่อหวังลดแรงต้านในการรับโอนสนามบิน

อย่างไรก็ตาม กระแสต้านและไม่เห็นด้วยกับการที่ ทย.จะโอนสนามบินภูธรเหล่านี้ไปให้ AOT บริหารจัดการยังคงคุกรุ่น ด้วยเห็นว่า สนามบินเหล่านี้เกิดจากการลงทุนของภาครัฐ หากโอนไปให้ AOT ก็คงหนีไม่พ้นที่จะนำไปเซ็งลี้ หรือดึงเอกชนเข้ามารับสัมปทานในกิจกรรมต่างๆ อันเป็นบทถนัดของ AOT อยู่ดี

ยิ่งในส่วนของสนามบินกระบี่ ที่ถือได้ว่าเป็นสนามบินหลักที่สร้างรายได้หลักให้แก่ ทย. ปีละกว่า 500 ล้านบาทหรือกว่า 55%ของรายได้รวมจากสนามบินภูธรในความรับผิดชอบของ ทย.ด้วยแล้ว การโอนสนามบินกระบี่และสนามบินที่มีศักยภาพเหล่านี้ไปให้ AOT ก็เท่ากับเป็นการชุบมือเปิบสนามบินของรัฐไปเพิ่ม Port ให้แก่ AOTโดยที่รัฐไม่ได้ประโยชน์ใดๆ

หากกระทรวงคมนาคม และ ทย. ต้องการดึงเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนและบริหารจัดการสนามบินภูธรของ ทย.ย่อมสามารถดำเนินการได้เองอยู่แล้วในรูปแบบสัมปทานร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP โดยสามารถกำหนดเงื่อนไขการร่วมลงทุน เงื่อนไขการพัฒนาสนามบินและการทำตลาด โดยไม่มีความจำเป็นต้องให้ AOTเข้ามาดำเนินการแทน”

ซัดผลงาน AOT สนามบินตัวเองยังหืดจับ!

แหล่งข่าวในแวดวงการบินได้ตั้งข้อสังเกตถึงศักยภาพของ ทอท. ในการบริหารสนามบินว่า หากทุกฝ่ายจะพิจารณาผลงานและศักยภาพของ AOT ในการบริหารสนามบินในภูมิภาคทั้ง 6สนามบินของทอท.เอง จะเห็นได้ว่า ทอท.ยังไม่สามารถจะบริหารจัดการสนามบินบางแห่งให้ผงาดขึ้นมาเป็นสนามบินอินเตอร์ได้ อย่างสนามบินหาดใหญ่ และสนามบินแม่ฟ้าหลวงเชียงราย ที่ปริมาณเที่ยวบินและนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้บริการในระยะ 10 ปีที่ผ่านมาก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นตามเป้าหมาย ทอท.ยังคงประสบกับการขาดทุนในการบริหารจนกระทั่งมีกระแสข่าวว่า ทอท. เตรียมปิดสนามบินดังกล่าว หรือเตรียมเซ็งลี้สนามบินเหล่านี้ออกไปก่อนหน้านี้

“หาก AOT มีศักยภาพและขีดความสามารถ ในระดับอินเตอร์จริง ก็คงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมให้เข้าไปร่วมลงทุนและบริหารสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออกมูลค่ากว่า 2 แสนล้านไปแล้วก่อนหน้านี้ แสดงให้เห็นว่าแม้แต่หน่วยงานรัฐเองอย่างกองทัพเรือก็ยังมองข้ามศักยภาพของ ทอท.และหันไปเปิดกว้างดึงเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP มากกว่า

กับ 4 สนามบินภูธรที่ รมว.คมนาคมกำลังดั้นเมฆจะให้ AOT รับโอนไปบริหารนี้ก็เช่นกัน ไม่มีหลักประกันใดที่ยืนยันได้ว่าจะทำให้สนามบินเหล่านี้ผงาดขึ้นมาเป็นสนามบินอินเตอร์ได้ นอกจากจะทำให้ AOT ชุบมือเปิบได้ทรัพย์สินของรัฐไปเพิ่ม Port ให้กับตนเองเท่านั้น”

ที่มา : http://www.natethip.com/news.php?id=1492

โดย เนตรทิพย์กระพิรบข่าวร้อน

www.mitihoon.com