มิติหุ้น-ก.ล.ต. เปิดเผยผลการประชุมคณะทำงาน SME Startup PE VC ที่มีนางสิริวิภา สุพรรณธเนศ รองเลขาธิการ ก.ล.ต. เป็นประธาน เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2562 ได้ข้อสรุปเบื้องต้นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การระดมทุนของเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพและรูปแบบการซื้อขายผ่านตลาดรอง เน้นสร้างสมดุลระหว่างกฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นภาระต่อภาคธุรกิจมากเกินไป โดยยังคงคำนึงถึงการคุ้มครองผู้ลงทุนเป็นสำคัญ
ก.ล.ต. เปิดเผยผลการประชุมคณะทำงานเสริมสร้างวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจเริ่มต้น กิจการเงินร่วมลงทุน นิติบุคคลร่วมลงทุน สู่ตลาดทุนไทย (คณะทำงาน SME Startup PE VC) ครั้งที่ 2 ในวันที่ 19 ธันวาคม 2562 ซึ่งได้มีการหารือเกี่ยวกับแนวทางการระดมทุนและการซื้อขายเปลี่ยนมือหุ้นเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพในตลาดรอง โดยมีข้อสรุปดังนี้
- เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ ต้องเป็นบริษัทจำกัดและบริษัทมหาชนจำกัดที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี และมีกรรมการและผู้บริหารที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด
- ต้องเปิดเผยข้อมูลตามที่ ก.ล.ต. กำหนดและต้องจัดส่งงบการเงินครึ่งปีและงบปีที่สอบทานโดยผู้สอบบัญชีที่สังกัดสำนักบัญชีที่ผ่านการตรวจคุณภาพจาก ก.ล.ต.
- ในส่วนประเภทของผู้ลงทุน ผู้ลงทุนที่สามารถซื้อขายในตลาดรองได้ต้องเป็น
3.1 ผู้ลงทุนสถาบัน กิจการเงินร่วมลงทุน (PE) นิติบุคคลร่วมลงทุน (VC) ผู้ลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะ (angel investor)
3.2 ผู้ลงทุนทั่วไปที่มีความรู้ความเข้าใจธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ ซึ่งมีรายได้หรือฐานะทางการเงินตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยจะต้องซื้อหุ้นดังกล่าวผ่านตัวกลางซึ่งทำหน้าที่รู้จักลูกค้าและแนะนำการลงทุนที่เหมาะสม (KYC และ Suitability) เพื่อยังคงหลักการคุ้มครองผู้ลงทุน
- จะเปิดให้มีการจัดตั้งกองทุนที่ลงทุนในหุ้นของเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพซึ่งบริหารจัดการโดยผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญในการลงทุนในเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ โดยกองทุนดังกล่าวอาจจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนทั่วไปสามารถลงทุนได้
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “การทำงานของคณะทำงาน SME Startup PE VC นี้ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลด้านการขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ตลอดจนแผนยุทธศาสตร์ของ ก.ล.ต. โดยบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ซึ่งความเห็นของคณะทำงานชุดนี้ ในเรื่องแนวทางการระดมทุนและการซื้อขายเปลี่ยนมือหุ้นของเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพในตลาดรอง รวมถึงคุณสมบัติของผู้ลงทุนที่สามารถลงทุนในตลาดรอง จะเป็นข้อมูลสำคัญที่ ก.ล.ต. จะนำมาใช้ประกอบการพิจารณาออกหลักเกณฑ์เพื่อช่วยเพิ่มทางเลือกให้เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุนได้ และคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเรื่องดังกล่าวภายในไตรมาสแรกของปี 2563”
ทั้งนี้ คณะทำงาน SME Startup PE VC ประกอบด้วยตัวแทนจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน ชมรมวาณิชธนกิจ สภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และในการประชุมครั้งนี้ ก.ล.ต. ยังได้เชิญผู้แทนจากสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เข้ามาร่วมเป็นคณะทำงานด้วย