ปตท. ร่วมมือ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ศึกษาวิจัยการบำบัดรักษาด้วยความเย็น มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทย

150

มิติหุ้น-นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ให้เกียรติเป็นประธานใน “พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือโครงการบำบัดรักษาด้วยความเย็น (Cryotherapy) ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” โดยมี นายเชิดชัย บุญชูช่วย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานจัดหาและตลาดก๊าซธรรมชาติ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ปตท. และ ดร.พิชัย สนแจ้ง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ร่วมลงนาม

โครงการบำบัดรักษาด้วยความเย็น หรือ Cryotherapy ถือเป็นการศึกษาและพัฒนานวัตกรรมที่เกิดจากการที่ ปตท. โดยหน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ริเริ่มที่จะศึกษาถึงโอกาสในการนำพลังงานความเย็นจากไนโตรเจนเหลวที่จะเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ของกลุ่ม ปตท. ในอนาคตอันใกล้ มาใช้ประโยชน์ในการบำบัดรักษาโรคและฟื้นฟูสภาพร่างกาย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนไทยให้สามารถเข้าถึงการรักษาได้ในราคาที่เหมาะสม

ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ กล่าวว่า การบำบัดด้วยความเย็นมีการใช้และมีรายงานการวิจัยอยู่บ้างในบางประเทศ แต่สำหรับประเทศไทยการใช้ความเย็นในทางการแพทย์ยังไม่แพร่หลายและเป็นที่ยอมรับมากนัก ดังนั้น การร่วมกันศึกษาวิจัยครั้งนี้จะดำเนินการตามมาตรฐานและหลักจริยธรรมการวิจัยเพื่อให้ได้คำตอบหลายด้าน เช่น สถานภาพการใช้ความเย็นเพื่อการบำบัด ผลการบำบัดด้วยความเย็น ความพึงพอใจของผู้เกี่ยวข้องทั้งแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ และกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มนักกีฬา กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปวดและกลุ่มผู้ป่วยโรคผิวหนัง เป็นต้น ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และ ปตท. จะร่วมมือกันก้าวต่อไปที่จะขยายผลสู่การปฏิบัติเพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคมและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน รวมทั้งการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ของทุกคน อันเป็นการสนองพระปณิธานของ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

นายอธิคม เติบศิริ กล่าวเสริมว่า ความร่วมมือระหว่าง ปตท. และ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในวันนี้ ถือเป็นการดึงศักยภาพของทั้งสองหน่วยงาน คือ ปตท. ที่มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับการแสวงหาและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่เป็นศูนย์กลางการเรียนการสอน การวิจัย พัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์ สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม และให้บริการทางการแพทย์ด้วยมาตรฐานระดับสากล เพื่อร่วมกันศึกษาวิจัยถึงเทคนิคการบำบัดรักษาด้วยความเย็นที่ปลอดภัยมีประสิทธิภาพ และเหมาะสมต่อคนไทยตามมาตรฐานทางการแพทย์ ซึ่งจะเป็นการสร้างองค์ความรู้เพื่อมุ่งหาโอกาสในการพัฒนาสู่การดำเนินโครงการในเชิงพาณิชย์ รวมถึงมุ่งสร้างประโยชน์ให้เกิดแก่ประชาชน สังคม และประเทศชาติ ร่วมกันต่อไป