SAMART ปี 63 ตั้งเป้ารายได้พุ่ง 2 หมื่นล.-ชูกลยุทธ์ Unlimited Solutions เพื่อตอบโจทย์ Digital Transformation

312

 

มิติหุ้น-กลุ่มบริษัทสามารถ ผู้ให้บริการเทคโนโลยีครบวงจร เดินหน้าสร้างความมั่นคงทางธุรกิจ โดยมุ่งเน้น 3 เป้าหมายหลัก ได้แก่ ลงทุนในธุรกิจที่มีความต้องการสูง ลงทุนในธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำ และลงทุนในธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตในอนาคต พร้อมชูกลยุทธ์ Unlimited Solutions เพื่อตอบโจทย์ Digital Transformation แก่ภาครัฐและเอกชน โดยตั้งเป้าหมายรายได้ 20,000 ล้านบาท

 นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า “ปี 2019 ที่ผ่านมา เป็นปีแห่งการพลิกฟื้นและวางรากฐานธุรกิจใหม่ของกลุ่มสามารถ มีการสร้างผลงานเด่นๆที่จะเป็นโอกาสสร้างรายได้ต่อเนื่องในอนาคต ทั้งธุรกิจด้าน Banking Solutions ในการทำระบบ Core Banking ให้กับแบงก์ธอส. และแบงก์เอสเอ็มอี , โครงการระบบคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์สำเร็จรูปสำหรับธุรกิจหลัก ให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่มีมูลค่าถึงกว่า 5,000 ล้านบาท ,โครงการสถานีไฟฟ้าย่อย (Substation) และการนำสายไฟลงดิน หรือ Underground Cable Services ของบริษัท เทด้า ที่มีงานในมือแล้วประมาณ 3,500 ล้านบาท ส่วนธุรกิจที่มีโอกาสสร้างรายได้ในปีนี้ คือ Digital Trunk Network ที่ติดตั้งเครือข่ายครอบคลุมไปแล้วประมาณ 90% ซึ่งจะเป็นโอกาสในการจำหน่ายเครื่อง Digital Trunk Radio เพิ่มขึ้น ในส่วนธุรกิจ Cyber Security ได้มีการเปิดตัวบริษัท ซีเคียวอินโฟ อย่างเป็นทางการ โดย IBM ให้เราเป็นพันธมิตรรายแรกและรายเดียวในประเทศไทยในการนำเทคโนโลยี Watson AI มาใช้ ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบในการให้บริการ กลุ่มสามารถจึงมีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มขึ้น 40 – 50% โดยจะเป็นงานของสายธุรกิจ ICT มากถึง 9,500 ล้านบาท

สำหรับปี 2020 นี้ แม้จะมีการคาดการณ์ว่าสภาพเศรษฐกิจอาจจะยังไม่สดใสนัก แต่ “กลุ่มสามารถ” มั่นใจที่จะให้เป็นปีแห่งการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและขยายธุรกิจด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง โดยชูกลยุทธ์นำเสนอ โซลูชั่นและเทคโนโลยีที่หลากหลาย หรือ Unlimited Solutions จากปัจจัยที่มาจากนโยบายภาครัฐที่จะก้าวสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) ด้วยการส่งเสริมด้านเทคโนโลยี ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตและการแข่งขัน ทั้ง E-Public Services , Critical Infrastructure , Cyber Security , Green Technology และ Human Transformation ซึ่งเป็นโอกาสทางธุรกิจของ “สามารถ” เราจึงตั้งเป้ารุกธุรกิจโดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

  1. กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ (High Demand Solutions for Critical Infrastructure)
    • Finance/Banking Solutions อาทิ Core Banking , Payment Service , Data Center for Banks จากลูกค้าในกลุ่มเป้าหมายทั้งธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสิน ธนาคารเอสเอ็มอี ฯลฯ รวมมูลค่ากว่า 3,000-4,000 ล้านบาท
    • Airport Solutions จากโครงการระบบตรวจบัตรโดยสารขึ้นเครื่อง (CUTE)และ ระบบตรวจสอบและคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้า  (APPS) ของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย  ที่มีมูลค่ารวมกว่า 8,000 ล้านบาท
    • Cyber Security เฝ้าระวัง ป้องกันและแก้ไขภัยคุกคามทางไซเบอร์ ที่ส่งผลกระทบกับธุรกิจต่างๆ สูงขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงการที่ พรบ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ 2562 จะบังคับใช้กับหน่วยงานต่าง ๆ กลุ่มลูกค้าเป้าหมายจึงมีทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมมูลค่า 200-300 ล้านบาท
    • Network Solution ที่เกี่ยวข้องกับ Nationwide Fiber Optic , IP Telephony จากกระทรวงมหาดไทย , การรถไฟแห่งประเทศไทย และอื่นๆ รวมมูลค่า 2,000 ล้านบาท
  2. กลุ่มธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำ (High Recurring Rev. Projects) โดยในปี 2019 กลุ่มสามารถมีรายได้ประจำอยู่ที่ 5,400 ล้านบาท และในปี 2020 นี้ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 6,200 ล้านบาท  ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโครงการของสายธุรกิจ ICT ที่คาดว่าปีนี้จะมีโอกาสเข้าร่วมประมูลอีกประมาณ 2 หมื่นล้านบาท อาทิ โครงการกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บมจ.ท่าอากาศยานไทย ธนาคารและสถาบันการเงิน เป็นต้น
  3. กลุ่มธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตสูง หรือ High Future Growth Business ที่นอกจากเราลงทุนในธุรกิจสถานีไฟฟ้าย่อย (Substation) และการนำสายไฟลงดิน หรือ Underground Cable รวมถึงธุรกิจด้านพลังงาน หรือ  Solar Energy แล้ว ปีนี้ กลุ่มสามารถจะนำบริษัทในเครือเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงไตรมาส 2 คือ บริษัท สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ หรือ  SAV ที่ดำเนินธุรกิจลงทุนในบริษัทอื่น (Holding company) โดยเน้นลงทุนในบริษัทที่ประกอบธุรกิจการจราจรทางอากาศ หรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการจราจรทางอากาศ โดย SAV ถือสัดส่วนร้อยละ 100.00 ในบริษัท แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิส จำกัด “CATS” เพียงบริษัทเดียว โดยธุรกิจของ CATS เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำและมีการเติบโตขึ้นทุกปี จากการเติบโตท่องเที่ยวของประเทศกัมพูชา และเศรษฐกิจของเพื่อนบ้าน ที่ส่งผลต่อจำนวนเที่ยวบินที่ขึ้นลงในสนามบินและเที่ยวบินที่บินผ่านน่านฟ้ากัมพูชาที่เพิ่มขึ้น

นายวัฒน์ชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า “ปี 2563 นี้ จะเห็นความคึกคักในการมาของ 5G ที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคและพลิกโฉมเศรษฐกิจอีกครั้ง การรับส่งข้อมูลระยะไกลจะรวดเร็วแม่นยำขึ้น ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จาก IoT ได้อย่างเต็มศักยภาพ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น สาธารณสุข การขนส่ง ความมั่นคง ระบบการเงินรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะส่งผลต่อโอกาสทางธุรกิจ ของกลุ่มสามารถ บริษัทฯ จึงตอบรับความท้าทายอย่างมั่นใจด้วยการตั้งเป้ารายได้ในปี 63 เราจะเติบโตขึ้นไม่ต่ำกว่า 40% ยังคงมุ่งเน้นการเพิ่มรายได้ประจำและการเติบโตแบบยั่งยืน โดยตั้งเป้ารายได้ในปี 63 ไว้ที่ 20,000 ล้านบาท”

www.mitihoon.com