มิติหุ้น – ปตท.สผ. เผยผลประกอบการจากการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ขยายธุรกิจ ส่งผลให้ปี 2562 มีกำไรสุทธิ 1,569 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สรอ.) เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 จากปริมาณการขายปิโตรเลียมที่เพิ่มขึ้นจากการเข้าซื้อกิจการและเพิ่มการลงทุนในแหล่งบงกช และยังส่งผลให้อัตราส่วนปริมาณสำรองปิโตรเลียมต่อการผลิต (R/P ratio) เพิ่มขึ้นเป็น 7.5 ปี สร้างการเติบโตให้กับบริษัทและสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศในระยะยาว โดยในปี 2563 ตั้งเป้าเพิ่มปริมาณการขายอีก 11%
นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่าบริษัทมีรายได้รวมในปี 2562 ที่ 6,413 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 198,822 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ซึ่งมีรายได้รวม 5,459 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 176,687 ล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 โดยปัจจัยหลักมาจากการที่บริษัทมีปริมาณการขายปิโตรเลียมที่เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนโครงการบงกช การเข้าซื้อกิจการของบริษัท เมอร์ฟี่ ออยล์ คอร์ปอเรชั่น ในประเทศมาเลเซีย และบริษัท พาร์เท็กซ์ โฮลดิ้ง บี.วี. ซึ่งส่งผลให้ปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยในปี 2562 เพิ่มขึ้นเป็น 350,651 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับ 305,522 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันในปี 2561 ขณะที่ราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 46.66 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในปี 2561 มาอยู่ที่ 47.24 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ
จากปริมาณการขายที่เติบโตขึ้นในปี 2562 ส่งผลให้ ปตท.สผ. มีกำไรสุทธิ 1,569 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 48,803 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 จากปี 2561 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 1,120 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 36,206 ล้านบาท) ทั้งนี้ ปตท.สผ. มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในปี 2562 รวม 3,540 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 102,878 ล้านบาท) และมีระดับอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อมราคา (EBITDA Margin) ที่ร้อยละ 71
ปริมาณสำรองปิโตรเลียมพิสูจน์แล้วเพิ่มขึ้นเป็น 7.5 ปี
เสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ
นายพงศธร กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์การขยายธุรกิจ (Expand) ซึ่งมีทั้งการเข้าซื้อกิจการและการชนะการประมูลทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราการขายปิโตรเลียมของ ปตท.สผ. เพิ่มขึ้นเป็น 350,651 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันนั้น นับเป็นปริมาณการขายปิโตรเลียมเฉลี่ยสูงสุดจากที่มีการผลิตมาของ ปตท.สผ. นอกจากนี้ แผนกลยุทธ์ดังกล่าว ยังมีผลให้ปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พิสูจน์แล้ว (P1) ของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 677 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ เป็น 1,140 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ หรือเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 68 เมื่อเทียบกับปี 2561 ซึ่งส่งผลให้ R/P ratio เพิ่มขึ้นจาก 5 ปี เป็น 7.5 ปีอีกด้วย
“นอกจากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นแล้ว เรายังสามารถเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมได้ตามเป้าหมาย ด้วย โดยจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตหากมีการสำรวจพบและพิสูจน์ทราบปริมาณสำรองในพื้นที่สำรวจต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นการสร้างการเติบโตให้กับ ปตท.สผ. ไปพร้อม ๆ กับเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทยในระยะยาว ส่วนในปี 2563 นี้ ปตท.สผ. ตั้งเป้าเพิ่มปริมาณการขายขึ้นอีก 11%” นายพงศธร กล่าว
อนุมัติจ่ายปันผล 6 บาทต่อหุ้น
จากผลประกอบการข้างต้น คณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 อนุมัติเสนอจ่ายเงินปันผล สำหรับปี 2562 ที่ 6 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้ ปตท.สผ. ได้จ่ายสำหรับงวด 6 เดือนแรกไปแล้วในอัตรา 2.25 บาทต่อหุ้น ส่วนที่เหลืออีก 3.75 บาทต่อหุ้น จะกำหนดวันให้สิทธิผู้ถือหุ้น (Record Date) เพื่อรับสิทธิในการรับเงินปันผลวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 และจะจ่ายในวันที่ 10 เมษายน 2563 ภายหลังได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี 2563 แล้ว
เร่งการพัฒนาโครงการ สร้างการเติบโตระยะยาว
สำหรับแผนงานในปี 2563 ปตท.สผ. จะมุ่งดำเนินงานตามแผนการเปลี่ยนผ่านสิทธิการดำเนินงานโครงการใหม่ที่ได้ในปีที่ผ่านมาให้เป็นไปอย่างราบรื่น โดยเฉพาะโครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ) และโครงการ G2/61 (แหล่งบงกช) ที่กำลังเตรียมแผนงานเพื่อให้ได้ปริมาณการผลิตตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต โดยได้เริ่มวางแผนการเจาะหลุมสำรวจ การสร้างแท่นผลิตและท่อส่งก๊าซธรรมชาติ รวมถึงศึกษาการเตรียมความพร้อมในด้านอื่น ๆ ซึ่งในส่วนของแหล่งเอราวัณนั้น ปตท.สผ. ได้ประสานงานกับผู้รับสัมปทานรายเดิมและกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถดำเนินงานได้ตามแผนและผลิตก๊าซธรรมชาติให้กับประเทศไทยได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ปตท.สผ. จะเร่งกิจกรรมการสำรวจในโครงการที่มีศักยภาพสูง เน้นโครงการในประเทศมาเลเซียและเมียนมา เช่น โครงการเมียนมา เอ็มดี-7 และหลุมสำรวจลัง เลอบาห์-1อาร์ดีอาร์ 2 ในแปลงซาราวัก เอสเค 410บี ประเทศมาเลเซีย ซึ่งในปีที่ผ่านมา ปตท.สผ. ประสบความสำเร็จในการเจาะหลุมสำรวจที่ถือเป็นการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของบริษัท รวมถึง แปลงสำรวจอื่น ๆ ในบริเวณเดียวกันในประเทศมาเลเซีย เพื่อพิจารณาการลงทุนที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งนี้ ปตท.สผ. ยังคงมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากโครงการปัจจุบัน และผลักดันการพัฒนาโครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน และโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ ให้สามารถผลิตได้ตามแผนที่วางไว้ เพื่อสร้างการเติบโตให้กับบริษัทในระยะยาว