ธนาคารกรุงเทพ ร่วมประเดิมทดสอบระบบการยืนยันตัวตนแบบดิจิทัล พร้อมชวนลูกค้าทดลองเปิดบัญชี e-Savings มั่นใจช่วยดันยอดโมบายแบงกิ้ง-ปล่อยกู้ออนไลน์ในอนาคต

252

มิติหุ้น-ธนาคารกรุงเทพ ร่วมโครงการ Regulatory Sandbox กับ ธปท. ทดสอบระบบยืนยันตัวตนรูปแบบดิจิทัล (NDID) พร้อมชวนลูกค้าทดลองเปิดบัญชีเงินฝากแบบใหม่ e-Savings เร่งศึกษาพฤติกรรมลูกค้า มั่นใจเตรียมปูพรมให้บริการทั่วประเทศได้อย่างรวดเร็ว  หาก ธปท. ไฟเขียว ช่วยดันยอดโมบายแบงกิ้ง

นางปรัศนี อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงเทพเข้าร่วมทดสอบการให้บริการยืนยันตัวตนรูปแบบดิจิทัล (NDID) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Regulatory Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยได้นำมาทดลองใช้กับบริการเปิดบัญชีเงินฝาก e-Savings ผ่านช่องทางดิจิทัล ซึ่งเป็นบัญชีเงินฝากแบบรูปแบบใหม่ที่ไม่มีสมุดบัญชี ไม่กำหนดยอดฝากขั้นต่ำ และฟรีค่าธรรมเนียมโอน เติม จ่าย และค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมข้ามเขตผ่านช่องทางบัวหลวง เอ็มแบงก์กิ้ง โดยสามารถเปิดบัญชีได้ง่ายด้วยตนเอง ผ่านแอปพลิเคชัน Bualuang mBanking หลังจากที่ ธปท. อนุญาตให้ออกจาก Regulatory Sandbox

สำหรับการเปิดบัญชีเงินฝาก e-Savings ด้วยกระบวนการรูปแบบใหม่นี้ ธนาคารได้นำเทคโนโลยีการจดจำใบหน้าที่เรียกว่า “Facial Recognition” มาช่วยพิสูจน์และยืนยันตัวตนในกระบวนการทำ e-KYC เพื่อเพิ่มความปลอดภัย  ซึ่งเป็นปัจจัยที่ธนาคารให้ความสำคัญในด้านการกำกับดูแลข้อมูลและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า

ในระยะเริ่มต้นที่เป็นการทดสอบให้บริการเปิดบัญชีเงินฝาก e-Savings ผ่านช่องทางดิจิทัลตามโครงการ Regulatory Sandbox ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้สนใจสามารถสมัครเปิดบัญชีดังกล่าวผ่านโทรศัพท์มือถือด้วยการยืนยันตัวตนทางดิจิทัลผ่านระบบ NDID ได้ที่ ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่สีลม ซึ่งผู้สมัครจะต้องเป็นลูกค้าใหม่   โดยธนาคารได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่คอยให้คำอธิบายและอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับขั้นตอนการทำรายการ เพื่อให้แน่ใจว่าลูกค้าจะได้รับประสบการณ์ที่ดีจากการทดลองใช้งาน และธนาคารสามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจความต้องการของลูกค้า ตลอดจนปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อให้สามารถนำไปปรับปรุงกระบวนการให้บริการให้ราบรื่นและสามารถส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น เมื่อได้รับอนุญาตจาก ธปท. ให้ออกจาก Regulatory Sandbox และเปิดให้บริการแก่ประชาชนเป็นการทั่วไปได้

“กลุ่มเป้าหมายสำคัญของผู้ใช้งานระบบใหม่นี้ จะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีดิจิทัล และการใช้งานแอปพลิเคชันด้านการเงินอยู่แล้ว ทั้งมั่นใจว่าโครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะมาช่วยตอบโจทย์การเติบโตของกลุ่มลูกค้าที่ใช้โมบายแบงกิ้งกับธนาคารที่คาดว่าจะเติบโตขึ้นเป็น 10 ล้านคนได้ในปีนี้ และเป็น 13 ล้านคนในปี 2564 รวมถึงยังสามารถต่อยอดไปสู่การตอบโจทย์บริการด้านการเงินรูปแบบอื่นๆ ได้ด้วย เช่น การให้บริการสินเชื่อออนไลน์ หรือ Digital Lending ซึ่งธนาคารได้ริเริ่มความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรมโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาสนับสนุน” นางปรัศนี กล่าว