Krungsri Talk-นักลงทุนซื้อบนความคาดหวัง, ขายเมื่อความจริงปรากฎ (06/03/2563)

82

หัวเรื่องบทวิเคราะห์ฉบับนี้ของหลักทรัพย์กรุงศรีจะฉายให้เห็นภาพที่ชัดเจนของสิ่งที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นสหรัฐหลังจากที่ Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ยก่อนกำหนดการประชุมรอบปกติลง 50bp เมือวันที่ 4 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยตลาดหุ้นสหรัฐปิดลบเช่นเดียวกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงด้วย ในขณะเดียวกัน อัตราผลตอบแทนของ UST อายุ 10 ปี ก็ลดลงต่ำกว่า 1% เป็นครั้งแรก และค่าเงินดอลลาร์ก็อ่อนค่าลงเล็กน้อย ถึงแม้นักลงทุนอาจจะคิดว่า Fed ลดดอกเบี้ยในช่วงเวลาที่ไม่ถูกต้อง แต่เราคิดว่านักลงทุนอาจจะมองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่า Fed เป็นธนาคารกลางเพียงหนึ่งเดียวในโลกที่จะสามารถก่อให้เกิด “การผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างสอดคล้องกัน” (synchronized monetary policy easing) ในระดับโลกได้ อันที่จริง เราไม่คิดว่าการผ่อนคลายนโยบายการเงินจะช่วยอะไรได้มากนักในช่วงที่ supply-chain ทั้งโลกเผชิญกับ disruption ซึ่งหมายความว่าตลาดหุ้นจะยังคงมีการเก็งกำไรกันอย่างหนัก และจะผันผวนต่อไปจนกว่าจะมีเหตุให้เชื่อได้ว่าสามารถควบคุมโรคระบาดได้แล้ว

 

ทำไม Fed ต้องรีบลดดอกเบี้ยก่อน?  

เรามองว่าการลดดอกเบี้ยของ Fed เป็นการตัดสินใจที่กล้าหาญ ซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ย Fed funds rate ลดลง 50bp เหลือ 1% ทั้งนี้ เพราะว่าภาวะเศรษฐกิจสหรัฐในปัจจุบันไม่ได้ตกอยู่ในสภาวะที่ทั้งรัฐบาล และ Fed ต้องดำเนินนโยบายทันทีเนื่องจากเศรษฐกิจยังคงขยายตัวต่อเนื่องในเดือนกุมภาพันธ์ โดย ดัชนี ISM ภาคการผลิตอยู่ที่ 50.1 และดัชนี PMI ภาคการผลิตอยู่ที่ 50.3 ในเดือนที่แล้ว ดังนั้น เหตุผลที่ทำให้ Fed ตัดสินใจลดดอกเบี้ยจึงเหลือแค่สองข้อหลัก ๆ ด้วยกัน ข้อแรกก็คือ Fed เห็นอะไรบางอย่างที่เรายังไม่เห็น (นี่เป็น scenario ในกรณีเลวร้าย) ข้อที่สองที่เราคิดว่ามีความเป็นไปได้มากกว่าก็คือ Fed ต้องการที่จะสร้างกระแสการผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างสอดคล้องกันทั้งโลก เพราะถึงอย่างไร Fed ก็ต้องลดดอกเบี้ยในการประชุม FOMC รอบหน้าอยู่แล้ว (แล้วจะรอไปทำไม?)  ทั้งนี้ การที่ Fed ลดดอกเบี้ยลงหมายความว่าค่าเงินสกุลอื่น ๆ จะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับ USD ซึ่งจะเป็นแรงบีบกลาย ๆ ให้ธนาคารกลางประเทศอื่นๆ ลดดอกเบี้ยลงตาม Fed

 

อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป?

ธนาคารกลางของออสเตรเลีย และมาเลเซียได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปก่อนหน้า Fed แล้ว เราคาดว่าธนาคารกลางประเทศอื่น ๆ จะพากันผ่อนคลายนโยบายการเงินตามสไตล์ของตัวเองในระยะต่อไป โดยเราคาดว่า ECB จะกดดอกเบี้ยลงจนติดลบหนักขึ้นอีก ในขณะที่ BoJ ก็อาจจะเพิ่มปริมาณการซื้อ ETF เพื่อดึงให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอายุยาวลดลงอีก ในขณะเดียวกัน เราคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยก็จะขยับตามด้วยการลดดอกเบี้ยลง 25bp ในการประชุมรอบหน้า เราจำเป็นต้องเข้าใจข้อเท็จจริงว่าการผ่อนคลายนโยบายการเงินจะไม่มีประสิทธิภาพมากนักในช่วงที่ ห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ทั้งโลกเผชิญกับการหยุดชะงัก (Disruption) เพราะกลไกการส่งผ่านผลของนโยบายการเงินไม่ทำงานอย่างที่ควรจะเป็น แต่อย่างไรก็ตาม เราคิดว่าวัฏจักรการผ่อนคลายนโยบายการเงินโลกรอบนี้จะช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างมากหลังจากที่สามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ได้แล้ว เราคิดว่าตัวชี้วัดสำคัญที่ต้องจับตาดูคือระยะเวลาการส่งมอบสินค้าของ supplier ซึ่งจากรายงานล่าสุดแสดงสัญญาณว่าถูก disruption อย่างชัดเจน โดยดัชนีเพิ่มขึ้น 4.4% ในเดือนกุมภาพันธ์ ทั้งนี้ หากตัวเลขลดลงจะเป็นการแสดงว่าสถานการณ์ของ supply-chain กลับมาดีขึ้นอีกครั้ง

 

การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการทางการคลังเป็น “สิ่งที่ต้องทำ” นอกจากรัฐบาลจีน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเกาหลีใต้แล้ว รัฐบาลประเทศอื่น ๆ ยังคงลังเลที่จะใช้มาตรการการคลังที่มีน้ำหนักมากพอในช่วงนี้ เราเชื่อแน่ว่าการใช้มาตรการการคลังจะเป็นวิธีที่ส่งผลเร็วที่สุด (และอาจจะเป็นเพียงวิธีเดียว) ที่จะช่วยบรรเทา “การหยุดชะงักจากฝั่งอุปสงค์” (demand-side disruption) ซึ่งเกิดขึ้นจากการระบาดของ COVID-19 ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากสถานการณ์การระบาดยืดเยื้อไปจนถึงกลางปี

Disclaimer:  เอกสาร/รายงานฉบับนี้จัดทำขึ้นบนพื้นฐานข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณชน ซึ่งพิจารณาแล้วว่ามีความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตาม บมจ.หลักทรัพย์กรุงศรี มิอาจรับรองความถูกต้องและความสมบูรณ์ของข้อมูลดังกล่าวได้ บทความดังกล่าวเป็นเพียงแนวคิดของผู้จัดทำเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการลงทุน บริษัทฯขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงความเห็นหรือประมาณการต่างๆที่ปรากฏในเอกสาร/รายงานฉบับนี้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าดังนั้นนักลงทุนโปรดใช้ดุลพินิจอย่างรอบคอบในการพิจารณาการลงทุน

www.mitihoon.com