ช่วงต้นสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นทั่วโลกแดงยกกระดาน โดยเป็นแรงขายที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินในปี 2551 ขณะที่ความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังไม่ทันคลี่คลายลง การเปิดฉากตัดราคาน้ำมันของผู้ผลิตยักษ์ใหญ่กลายเป็นคลื่นสึนามิลูกใหม่โถมเข้ามาช็อคตลาดการเงินโลก อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯรุ่นอายุ 10 ปี ร่วงลงใกล้ 0.3% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
นักลงทุนปิดรับความเสี่ยงด้วยความตื่นตระหนกหลังซาอุดิอาระเบียกับรัสเซียไม่สามารถปิดดีลกันได้เรื่องการลดอุปทานน้ำมัน และทั้งสองประเทศประกาศว่าจะเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ ทั้งๆ ที่ความต้องการใช้น้ำมันของโลกกำลังเผชิญแรงกดดันด้านขาลงจากการระบาดของไวรัสเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยนักวิเคราะห์ด้านพลังงานมองว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าวสะท้อนการหันมาใช้กลยุทธ์เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดแทนการปกป้องราคา ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบดิ่งลงในอัตราที่หนักหน่วงที่สุดนับตั้งแต่สงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 2534
สำหรับตลาดอัตราแลกเปลี่ยน สกุลเงินที่เชื่อมโยงสูงกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะน้ำมันดิบ อาทิ เงินรูเบิลรัสเซีย โครนนอร์เวย์ และดอลลาร์แคนาดา อ่อนค่าลงทันที ส่วนเงินเยนแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 3 ปี โดยยังคงรักษาสถานะสกุลเงินที่ปลอดภัยเมื่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรหลายแห่งของโลกดิ่งลงอย่างรุนแรง ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เพิ่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% สู่ 1.00-1.25% ในการประชุมฉุกเฉินเมื่อวันที่ 3 มีนาคม แต่ไม่สามารถประคองความเชื่อมั่นของนักลงทุนไว้ได้ และตลาดคาดว่าเฟด ซึ่งมีขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) มากกว่าธนาคารกลางแห่งอื่นๆ อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.75% ในเดือนเดียวกันนี้ ส่งผลให้ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐฯ กับประเทศอื่นๆ แคบลง และเงินดอลลาร์จะไม่ใช่สกุลเงินที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงอีกต่อไป นอกจากนี้ บริบทของเงินเฟ้อที่ต่ำลงจากต้นทุนพลังงานยังเอื้อต่อการตัดสินใจของผู้ดำเนินนโยบายรวมถึงคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยให้ปรับลดดอกเบี้ยลงได้อีก
ภาวะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่แม้จะคลายตัวลงบ้างในช่วงกลางสัปดาห์ ขณะที่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทกลับได้แรงหนุนจากความหวังที่ว่ารัฐบาลทรัมป์จะดำเนินมาตรการด้านการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ฟื้นขึ้นจากสถิติต่ำสุด ทางด้านรัสเซียส่งสัญญาณอาจรื้อฟื้นการเจรจากับกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) เพื่อรักษาเสถียรภาพตลาด แต่อารมณ์ของนักลงทุนยังเปราะบาง โดยเราคาดว่าความไม่แน่นอนของทิศทางเศรษฐกิจโลก รวมถึงผลกระทบต่อความมั่งคั่ง (wealth effect) ที่ทรุดตัวตามราคาสินทรัพย์เสี่ยงในช่วงที่ผ่านมาจะยังคงทำให้สกุลเงินตลาดเกิดใหม่รวมถึงเงินบาทมีแนวโน้มผันผวนสูงและอ่อนค่าจนกว่าจะมีสัญญาณเบื้องต้นว่าแรงกระเพื่อมต่างๆ เริ่มนิ่ง
โดย คุณรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ
ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
www.mitihoon.com