ออมสิน คิ๊กออฟซอฟท์โลน ปล่อยกู้ 1 หมื่นล้านบาท จับมือ ททท.-สภาอุตฯท่องเที่ยว-บสย. พลิกฟื้นท่องเที่ยว

219

มิติหุ้น-ธนาคารออมสิน เดินหน้าปล่อยเงินกู้ซอฟท์โลน วงเงิน 10,000 ล้านบาท ผนึกความร่วมมือ ททท.-สภาอุตฯท่องเที่ยวฯ ดึงผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบเข้าคอร์สเสริมสภาพคล่อง ยื่นกู้ได้วงเงินไม่เกินรายละ 20 ล้านบาท ดอกเบี้ยคงที่ 2% 2 ปี โดย บสย. พร้อมเป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่อ ตั้งเป้าค้ำฯ 4,000 ราย วงเงิน 10,000 ล้านบาท

วันนี้ (27 มีนาคม 2563) ณ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้มีพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลง “โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) สำหรับผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19” เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มีธนาคารออมสินร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ในการดำเนินการตามมาตรการเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งจะอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งทุนสำหรับการเสริมสภาพคล่อง เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยได้เข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำต่อไป โดยมี นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานในพิธีลงนาม

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ด้วยปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลกระทบในวงกว้างในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ทำให้ภาคธุรกิจภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย ซึ่งรัฐบาลได้ติดตามและให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด นำไปสู่การออกมาตรการดูแลและเยียวยาทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะมาตรการบรรเทาผลกระทบและเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการซึ่งครอบคลุมการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจและคงสภาพการจ้างงานต่อพนักงาน/ลูกจ้างต่อไปได้

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า ททท. เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการผลักดันและสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มุ่งเน้นการส่งเสริมทางการตลาด ซึ่งจากสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ททท. ได้ปรับนโยบายการดำเนินงานอย่างเร่งด่วน โดยช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019 โดยได้แสวงหาความร่วมมือกับสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ดำเนินกิจกรรมการพัฒนามาตรฐานการให้บริการ ด้วยแนวคิด “ซ่อม-สร้าง” เพื่อเตรียมความพร้อมต้อนรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวเมื่อทั่วโลกกลับสู่สภาวะปกติ รวมทั้งการวางแผนดำเนินกิจกรรมทางการตลาดเพื่อที่กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเกิดความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย อีกครั้ง

ด้าน นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลต่อกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยอย่างมาก ซึ่งสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในฐานะตัวแทนของผู้ประกอบการและผู้มีอาชีพเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรวม 13 สาขา ตลอดจนผู้ประกอบการและผู้มีอาชีพเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเป็นอย่างดี โดยการลงนามในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะได้ประสานความร่วมมือกับธนาคารออมสิน และบสย. ที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้ผ่านช่วงเวลาแห่งความยากลำบากเช่นนี้ไปได้

ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า จากการที่สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (Covid-19) ที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนโดยรวม โดยที่รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา Covid-19 โดยธนาคารออมสินเร่งดำเนินการสนับสนุนวงเงินโครงการรวม 150,000 ล้านบาท เพื่อให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว ภายในวงเงิน 135,000 ล้านบาท และให้ธนาคารออมสินให้สินเชื่อโดยตรงในวงเงินอีก 15,000 ล้านบาท โดยสามารถยื่นขอสินเชื่อได้จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563

สำหรับการดำเนินการปล่อยกู้ของธนาคารออมสินในวงเงิน 15,000 ล้านบาทนั้น ได้เริ่มจัดสรรให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กู้ในวงเงิน 10,000 ล้านบาท ภายใต้ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) สำหรับผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19” สำหรับปล่อยกู้ให้แก่ผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยว เพื่อช่วยเหลือเยียวยาเป็นพิเศษ โดยกำหนดวงเงินกู้สูงสุดต่อรายไม่เกินรายละ 20 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2 ปี ในอัตรา 2% ต่อปี ระยะเวลากู้เงินสูงสุดไม่เกิน 10 ปี ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มาร่วมค้ำประกันเงินกู้ได้ด้วย

“ธนาคารออมสิน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวให้สามารถดำเนินธุรกิจในช่วงที่ได้รับผลกระทบนี้ต่อไปได้ ซึ่งจะเป็นพลังในการร่วมกันฟันฝ่าอุปสรรค สร้างความแข็งแกร่งให้แก่ผู้ประกอบการ สามารถคงศักยภาพในการดำเนินธุรกิจหรือพลิกฟื้นธุรกิจให้กลับมาเป็นปกติได้ในเวลาไม่นาน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวเดินอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป”ดร.ชาติชาย กล่าว

นายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไปอาวุโส สายงานบริหารช่องทางและพัฒนาผู้ประกอบการ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า ถือเป็นข่าวดีของผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มท่องเที่ยวที่จะสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น หลังจากที่ภาคีเครือข่ายด้านการท่องเที่ยว หลายหน่วยงานได้ร่วมกันผลักดัน ขับเคลื่อน ภายใต้ความร่วมมือ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) สำหรับผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 โดยความร่วมมือระหว่าง บสย. และธนาคารออมสินครั้งนี้ ธนาคารออมสิน จะเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อ บสย. จะค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการ SMEs ในส่วนที่ยังขาดหลักประกัน เพื่อเติมเต็ม เพิ่มสภาพคล่อง ประคองให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้

บสย. ตั้งเป้าหมายช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มท่องเที่ยว 4,000 ราย วงเงินค้ำประกันสินเชื่อกว่า 10,000 ล้านบาท ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS (Portfolio Guarantee Scheme) ระยะที่ 8 ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อ 2 ปี สิ้นสุดโครงการวันที่ 30 ธันวาคม 2563 หรือจนกว่าวงเงินจะหมด

ซึ่งในวันนี้ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวประเทศไทย ได้มอบรายชื่อผู้ประกอบการที่มีความประสงค์ขอยื่นสินเชื่อให้กับธนาคารออมสินในการลงนามครั้งนี้ด้วย

www.mitihoon.com