ราคาน้ำมันดิบทรงตัวในระดับต่ำ หลังหลายประเทศปิดเมืองยับยั้งไวรัสโควิด-19 ฉุดความต้องการใช้น้ำมัน

60

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 20-25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 23-28 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

 

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (30 มี.ค. – 3 เม.ย. 63)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกปิดเมืองเพื่อระงับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกดดันต่อภาพรวมเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน นอกจากนี้ ตลาดยังคงกังวลเกี่ยวกับปริมาณน้ำมันดิบที่อาจปรับตัวสูงขึ้น หลังซาอุดิอาระเบียและรัสเซียประกาศทำสงครามราคาน้ำมันและเตรียมเพิ่มกำลังการผลิตในเดือน เม.ย. 63 อย่างไรก็ตาม จับตาการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางทั่วโลก เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • ตลาดน้ำมันยังคงถูกกดดันหลังอุปสงค์น้ำมันทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงต่อไป ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกออกมาตรการปิดเมือง งดการทำกิจกรรม ระงับการเดินทางและเคลื่อนย้าย เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ล่าสุด อินเดียเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ออกมาตรการให้ประชาชนกักตัวอยู่ในที่พักอาศัยเป็นระยะเวลา 21 วัน นับตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. 63 หลังมีรายงานยอดผู้ติดเชื้อกว่า 500 ราย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้มีการคาดการณ์ว่าความต้องการใช้น้ำมันของอินเดียซึ่งเป็นผู้บริโภคอันดับสามของโลกมีแนวโน้มปรับลดลงมาก
  • ธนาคาร UBS ออกคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันในเดือน มี.ค. 63 จะปรับตัวลดลงจากปีที่ผ่านมาราว 5-10 ล้านบาร์เรลต่อวัน รวมถึงคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์จะอยู่ที่ระดับ 20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เท่านั้นในเดือน มิ.ย. 63
  • ซาอุดิอาระเบียยังคงยืนการปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 12.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน เม.ย. 63 และพร้อมเพิ่มการส่งออกน้ำมันดิบที่ระดับ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในเดือน พ.ค. 63 จากเดิมที่ระดับ 7.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน มี.ค. 63
  • ทิศทางตลาดลงทุนที่มีแนวโน้มดีขึ้น หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ โดยการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) แบบไม่จำกัดวงเงินและเวลา เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยนักลงทุนยังคงจับตาว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐฯ มูลค่ากว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ จะผ่านการเห็นชอบของรัฐสภาในเร็วๆ นี้ หรือไม่
  • การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ตลาดมองว่ามีต้นทุนการผลิตสูง และอาจได้รับผลกระทบให้ต้องปรับลดกำลังการผลิตลงหากราคาน้ำมันดิบโลกแตะระดับต่ำกว่า 20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยล่าสุด สถาบันปิโตรเลียมแห่งอเมริกา (API) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 มี.ค. 63 เริ่มปรับลดลงแตะระดับ 451.4 ล้านบาร์เรล ซึ่งถือเป็นการปรับลดเป็นครั้งแรกในรอบ 8 สัปดาห์
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคของกลุ่มยูโรโซนเดือน มี.ค. 63 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของจีนเดือน มี.ค. 63 และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคการผลิตของสหรัฐฯ เดือน มี.ค. 63

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (23 – 27 มี.ค. 63)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 0.92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 21.51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 2.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 24.93 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 24.94 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ทั้งนี้เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศแถบตะวันตกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายประเทศทั่วโลกประกาศปิดเมืองเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ตลาดได้รับข่าวดีของการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ มูลค่ากว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ

www.mitihoon.com