มิติหุ้น – นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยถึงทิศทางการลงทุนในเดือนเมษายน 2563 ว่ายังคงได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงหลักต่อเนื่องจากไตรมาสแรกของปี ทั้งการระบาดของ COVID-19 ความผันผวนของราคาน้ำมัน และแนวโน้มปัญหาภัยแล้งที่จะเข้ามากระทบอีก ซึ่งต้องยอมรับว่าผลกระทบจาก COVID-19 นั้นค่อนข้างรุนแรงเพราะกระทบกับภาคเศรษฐกิจจริงของประเทศ จนส่งผลให้ประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนถูกปรับลดลงอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ ทรีนีตี้ประเมินว่าในเดือนเมษายนนี้จะมีสภาพคล่องส่วนเพิ่มในประเทศเกิดขึ้นใหม่จาก 2 เหตุการณ์สำคัญ นั่นก็คือการเริ่มโครงการซื้อหุ้นคืนของบจ.กว่า 20 แห่งและการเริ่มขายกองทุน SSF ประเภทพิเศษหรือ SSF-X ซึ่งจากการคำนวณของทรีนีตี้โดยอ้างอิงกับระดับการเข้าซื้อของกองทุน LTF ในอดีต คาดว่าจะมีเม็ดเงินราว 2 หมื่นล้านบาทไหลเข้าสู่กองทุน SSF-X ในช่วงไตรมาสที่ 2 นี้
ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีในเดือนเมษายนจะมีแนวต้านสำคัญอยู่ 2 บริเวณ ได้แก่ 1130-1140 จุดและ1220 จุด โดยระดับ 1130-1140 จุดเป็นระดับที่อิงการปรับตัวขึ้นเฉลี่ย 8.9% จากดัชนีปิดต่ำสุด ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของการ Rally ในช่วงตลาดขาลง 3 รอบหลังสุดและยังเป็นระดับที่เทียบเคียง PE ในกรณีล่างที่ 14.2 เท่า (อิงประมาณการ EPS ที่ 80 บาท) ส่วนระดับดัชนี 1220 จุด นั้นเป็นระดับที่อิง PE ในกรณีฐานที่ 15.2 เท่า ในสถานการณ์แบบนี้ยังคงแนะนำให้นักลงทุน Selective การถือครองไปยังหุ้นแนะนำ ขณะเดียวกันถ้าดัชนีขึ้นไปแตะแนวต้านแรกที่ 1130-1140 จุด แนะนำขายหุ้นออกมาบางส่วนและหากยังเดินหน้าไปต่อถึงระดับ 1220 จุด แนะนำเป็นจุดขายหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ
“มองว่าตลาดหุ้นไทยมีโอกาสผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงไตรมาสที่ 1 ที่ 970 จุด แต่ต้องอยู่บนสมมุติฐานที่ว่าเศรษฐกิจไทยนั้นจะปรับตัวทำจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาสที่ 2 นี้ เนื่องจาก โดยปกติแล้ว ดัชนีหุ้นไทยมักปรับตัวชี้นำเศรษฐกิจและกำไรของบจ.อยู่ประมาณ 1 ไตรมาส มองการประกาศเคอร์ฟิวหากเกิดขึ้นจริงจะเป็นผลบวกต่อ SET เนื่องจากจะเป็นการช่วยร่นระยะเวลาจุดสูงสุดของปัญหาให้ใกล้เข้ามายิ่งขึ้น” นายณัฐชาตกล่าว
สำหรับธีมการลงทุนแนะนำในเดือนเมษายนนั้นยังคงโฟกัสไปที่ 5 กลุ่มการลงทุนซึ่งประกอบ ไปด้วย 12 บริษัท โดยคาดว่าหุ้นเหล่านี้มีโอกาสเป็นเป้าหมายหลักของนักลงทุนสถาบันในประเทศที่กำลังจะได้รับสภาพคล่องส่วนเพิ่มจากการเปิดขายกองทุน SSF-X ในเดือนเมษายนนี้ โดยเฉพาะจากกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนแบบ Active management ประกอบด้วย
- กลุ่มโรงไฟฟ้าที่ Valuation เริ่มลดความร้อนแรงลงและยังมีความน่าสนใจจากฐานรายได้ที่สม่ำเสมอและปันผลดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตร(Bond Yield) ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยหุ้นที่น่าสนใจคือ บี.กริมเพาเวอร์ (BGRIM) โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่(GPSC) กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ผลิตไฟฟ้า(EGCO) และราช กรุ๊ป (RATCH)
- กลุ่มสื่อสารที่มีอัตราเงินปันผลสูง มีความผันผวนต่ำและยังได้รับประโยชน์จากปริมาณการใช้ Data ที่สูงขึ้นจากการทำงานที่บ้าน เช่น แอ๊ดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) และอินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH)
- 3. กลุ่ม Consumer staple ที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ชีวิตประจำวันและได้ประโยชน์จากการเร่งกักตุนสินค้าของประชาชน รวมถึงมาตรการเพิ่มเงินในกระเป๋าจากทางรัฐบาลและธปท. คือ สยามแม็คโคร(MAKRO) เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC)
- 4. กลุ่มบริหารสินทรัพย์ที่ได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยลดลงทำให้ต้นทุนทางการเงินถูกลงและมีโอกาสซื้อหนี้ในราคาถูกในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว คือ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์(BAM)
- กลุ่มอาหารที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า การบริโภคเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้น และการ Turn around ของกำไร คือ เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) และไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU)
สำหรับหุ้นกลุ่มโรงแรม สายการบิน สนามบิน ยังคงแนะนำให้ชะลอการลงทุนไปก่อน แม้ว่าราคาจะปรับลดลงมามากแล้วก็ตาม โดยมองจุดการเข้าซื้อที่ปลอดภัยที่สุดยังคงได้แก่การรอให้ทาง WHO ประกาศการควบคุมโรค COVID-19 ให้ได้อย่างเป็นทางการเสียก่อน อย่างไรก็ดี สำหรับคนที่ต้องการซื้อเร็วกว่านั้น มองว่าอย่างน้อยก็จะต้องรอให้จำนวนผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาลนั้นปรับตัวขึ้นถึงจุดสูงสุดให้ได้เสียก่อน ซึ่งจากการเก็บข้อมูลล่าสุดนั้นยังไม่เห็นสัญญาณดังกล่าวแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ยังคงแนะนำการถือครองทองคำในสัดส่วน 10% ของพอร์ตโฟลิโอรวมต่อไป เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่ได้ประโยชน์อันดับแรกๆจากสภาพคล่องในระบบการเงินโลกที่เอ่อล้นทำจุดสูงสุดใหม่ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สะท้อนจากขนาดงบดุลของ 4 ธนาคารกลางขนาดใหญ่ที่ ณ ตอนนี้อยู่ที่ระดับ 16.8 ล้านล้านดอลลาร์ฯ มากกว่าจุดสูงสุด ณ ช่วงต้นปี 2018 ที่อยู่เพียง 15.8 ล้านล้านดอลลาร์ฯ เท่านั้นwww.mitihoon.com