บีเอ็นเอฟ โฮลดิ้ง สนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ แก่ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

584

มิติหุ้น – ธนน วีอารยะ ประธาน บริษัท บีเอ็นเอฟ โฮลดิ้ง จำกัด กล่าวว่า “จากกรณีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย บริษัทฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญในการทุ่มเท เสียสละ ของทุกหน่วยงานที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังเพื่อส่วนรวม และมองเห็นถึงความต้องการด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ บริษัทฯ จึงได้มอบเครื่องช่วยหายใจ มูลค่า 600,000 บาท จำนวน 2 เครื่อง เพื่อรองรับและเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยโควิด-19 รวมถึงยังสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยโรคปอดและหัวใจได้ต่อไป ปัจจุบันบริษัทฯ ให้พนักงาน Work from Home ซึ่งเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ทำให้รถยนต์ที่เคยรับส่งพนักงานต้องหยุดวิ่ง เราจึงได้จัดกิจกรรม #RIDE4HERO นำรถยนต์มาสนับสนุนศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก พร้อมคนขับและน้ำมัน จำนวน 1 คัน เพื่อเป็นการให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ และผมขอเชิญชวนผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจรถรับส่ง หรือรถบริการที่ขณะนี้อาจจะจอดว่างอยู่หรือไม่ได้ใช้งาน สามารถมาร่วมสนับสนุน โดยรถยนต์จะนำไปใช้รับ-ส่ง คุณหมอ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ตลอดช่วงระยะเวลาที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งถือเป็นการบริจาคที่มีความหมายมากในสถานการณ์เช่นนี้ หากมีพาหนะและสิ่งอำนวยความสะดวกได้มากเท่าไหร่ก็จะยิ่งทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาลดีขึ้น การขนส่งเกิดความสะดวกยิ่งขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยดี”
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระ กลลดาเรืองไกร ผู้อำนวยการ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก กล่าวว่า “ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ได้ทำงานร่วมกับคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดยเราแบ่งโรงพยาบาลออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกจะดูแลผู้ป่วยหนัก และอีกกลุ่มจะดูแลผู้ป่วยเบา ดังนั้นเวลาคนไข้เข้ามาตรวจ เราก็จะให้เข้าตรวจที่คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาลก่อน และโรงพยาบาลศิริราชจะประเมินคนไข้ ถ้าคนไข้จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหรือมีอาการเจ็บป่วยก็จะนอนที่โรงพยาบาลศิริราช ส่วนคนไข้ที่มีอาการไม่หนักก็จะมาพักที่ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก และจะมีการส่งต่อคนไข้ระหว่างกัน ซึ่งทั้งหมดนี้เพื่อจะทำให้โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งมีความสามารถในการดูแลผู้ป่วยหนักและมี ICU สามารถจะมีเพียงพอกับคนไข้ สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ช่วงแรกจะมีปัญหาเรื่องชุด PPE หรืออุปกรณ์ป้องกันส่วนตัว แต่เราก็ได้รับความช่วยเหลือและบริจาคส่วนหนึ่งจากทางภาครัฐ และอีกส่วนหนึ่งมาจากภาคเอกชน เวลาใช้อุปกรณ์ป้องกันตัวจะแยกเป็น 2 แบบ คือแบบที่จำเป็นสำหรับบุคลากรที่ต้องสัมผัสผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด และบุคลากรที่ไม่ได้สัมผัสผู้ป่วยเราจะใช้อุปกรณ์อีกแบบหนึ่งเพื่อลดการใช้อุปกรณ์ที่จำเป็น สำหรับเครื่องช่วยหายใจถือเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่โรงพยาบาลต้องเตรียมไว้ โดยจะต้องมีพยาบาลหรือผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลเพื่อจะได้ใช้เครื่องมือนี้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งก็มีผู้บริจาคเครื่องช่วยหายใจเข้ามาหลายราย เพื่อจะได้นำไปใช้ได้อย่างเหมาะสม”

สะธี ใบหยก ผู้ช่วยประธานกรรมการกลุ่มใบหยก และประธานฝ่ายบริหาร บริษัท เฮลท์ตี้นิสต้า จำกัด กล่าวว่า “บุ้งกับครอบครัวทำบุญ และบริจาคสิ่งของอยู่เสมอ ซึ่งเราพยายามบริจาคของที่มีความจำเป็นไปยังโรงพยาบาลที่ขาดแคลนและมีความต้องการ ท่ามกลางวิกฤต เราได้เห็นน้ำใจไมตรีของคนในสังคมที่หยิบยื่นให้แก่กัน เพื่อที่จะผ่านพ้นความยากลำบากนี้ไปด้วยกันค่ะ”

www.mitihoon.com