ส่องไส้ในกองทุน BSF 4 แสนล.อุ้มบอนด์ ช่วยแบงก์ ???

962

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลก และเพื่อพยุงเศรษฐกิจของไทย ภาครัฐจึงออก พ.ร.ก.พยุงเศรษฐกิจ 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาทออกมา ประกอบด้วย  พ.ร.ก.กู้เงินวงเงิน 1 ล้านล้านบาทของกระทรวงการคลัง และอีก 2 ฉบับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คือ พ.ร.ก.ให้อำนาจ ธปท. ออก Soft Loan เพื่อดูแลภาคธุรกิจ SMEs วงเงิน 5 แสนล้านบาท และ พ.ร.ก.ตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond Stabilization Fund : BSF) ดูแลเสถียรภาพภาคการเงินวงเงิน 4 แสนล้านบาท

เปิดทางธุรกิจได้เติมสภาพคล่อง 

โดยในส่วนของกองทุน BSF นั้น ได้กำหนดให้ ธปท.ซื้อขายหน่วยลงทุนในกองทุนดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งเบาธุรกิจบางรายที่ประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างกะทันหัน ซึ่งอาจมีผลต่อเนื่องไปถึงการระดมทุนหรือการต่ออายุตราสารหนี้ (rollover) จนทำให้กลไกตลาดตราสารหนี้อาจไม่สามารถทำหน้าที่จัดหาเงินทุนแก่ภาคธุรกิจได้อย่างเป็นปกติ

ความสำคัญ ตราสารหนี้ภาคเอกชนที่กองทุน BSF จะลงทุนได้นั้น ต้องเป็นบริษัทที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับลงทุนได้ (investment grade) อย่างต่ำที่ระดับ BBB- หรือเทียบเท่า และอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารต้องเป็น investment grade เช่นเดียวกัน อีกทั้งบริษัทดังกล่าวต้องจัดหาแหล่งเงินทุนอื่นมาแล้วไม่น้อยกว่า 50% ของยอดตราสารหนี้ที่จะครบกำหนด เป็นต้น

จัดให้บริษัทชั้นดีเท่านั้น

นอกจากนี้ ธุรกิจที่มีปัญหาสภาพคล่องจะต้องเป็นแค่ชั่วคราว และมีแนวโน้มที่จะดำเนินธุรกิจต่อได้หลังการระบาดของไวรัสคลี่คลาย รวมทั้งต้องมีแผนการจัดเงินทุนในอนาคตชัดเจน และที่สำคัญจะต้องมีหนังสือรับรองว่าจะไม่ถูกสถาบันการเงินลดวงเงินสินเชื่อเดิม หรือเรียกหนี้คืนก่อนกำหนดตลอดช่วงที่กองทุน BSF ลงทุน

โดยตราสารหนี้ที่เข้าร่วมนี้ จะต้องเป็นตราสารหนี้ที่มียอดคงค้างก่อนวันที่ 19 เม.ย.63 ซึ่งเป็นวันที่เริ่มจัดตั้งกองทุน BSF มีวันครบกำหนดไม่เกิน 31 ธ.ค.64 และต้องเป็นตราสารหนี้ที่เสนอขายทั่วไป ไม่รวมตราสารหนี้และตั๋วเงินที่ขายในวงจำกัดต่ำกว่า 10 คน

ส่งผลบวกเบาๆให้กลุ่มแบงก์

ในมุมของ บล.เอเซีย พลัส ได้ระบุในรายงานว่า ฝ่ายวิจัยได้ทำการวิเคราะห์วงเงินหุ้นกู้เอกชนที่มีอยูในระบบทั้งหมด ที่จะหมดอายุในปีนี้มีทั้งสิ้น 4.39 แสนล้านบาท แบ่งเป็นระดับ Invesment Grade 3.7 แสนล้านบาท ซึ่งวงเงินจากกองทุน BSF ครอบคลุมในส่วนนี้ ขณะที่หุ้นกู้ระดับ Non Investment Grade มีวงเงิน 7.0 หมื่นล้านบาท อาจจะกลับไประดมเงินผ่านธนาคารพาณิชย์แทน

ประเด็นดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นของ Sentiment ที่ดีเล็กๆ ต่อกล่มธนาคารพาณิชย์ หลังจากไม่มีปัจจัยอะไรมาสนับสนุนเป็นเวลานาน เนื่องจากช่วยทำให้ความเสี่ยงทางด้าน Credit Risk ลดลง และยังมีโอกาสได้ Loan Growth เพิ่มขึ้น โดยฝ่ายวิจัยเลือก KBANK เป็น Top Pick จากใน 3 หุ้นที่แนะนำซื้อ (BBL, KKP, KBANK)

กูรูมองต่างคาดเอกชนไม่พึ่ง BSF

ด้านนายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หบวนต้า (ประเทศไทย) ให้ความเห็นว่า วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของกองทุน BSF เพื่อให้เป็นทางเลือกสุดท้าย ที่ธุรกิจที่ขาดสภาพคล่องจะเลือกใช้ เพราะบริษัทหรือธุรกิจจะต้องมีการจัดหารเงินทุนบางส่วนด้วยตัวเองก่อน ตามที่กำหนดไว้ว่า บริษัทต้องจัดหาแหล่งเงินทุนอื่นมาแล้วไม่น้อยกว่า 50% ของยอดตราสารหนี้ที่จะครบกำหนด จากนั้นกองทุน BSF จะช่วยซื้อ 50% ของวงเงินต่ออายุในตราสารที่มีเกรดลงทุนได้ โดยคิดดอกเบี้ยแพงกว่าตลาด 1-2% และให้สูงสุดไม่เกิน 12,000 ล้านบาทต่อราย

ทั้งนี้มองว่าด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าตลาด จะทำให้บริษัทหรือธุรกิจที่มีเรทติ้งของตราสารในระดับที่ลงทุนได้ หรือ Investment grade ซึ่งจะเป็นบรรดาบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ หรือบริษัทที่มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง จะไม่ขอความช่วยเหลือจากกองทุน BSF เพราะยังมีความสามารถบริหารจัดการหุ้นกู้หรือตราสารได้ดี

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้อาจส่งผลบวกด้านจิตวิทยาเล็กน้อยถึงหุ้นกลุ่มแบงก์ ในแง่ที่สร้างความเชื่อมั่นได้ว่าบริษัทหรือธุรกิจที่อาจเสี่ยงต่อการขาดสภาพคล่องแบบฉับพลัน จะยังมีตัวช่วยฉุกเฉินอย่างกองทุน BSF รองรับอยู่ ทำให้ไม่ต้องผิดนัดชำระหนี้หรือเป็นปัญหากับธนาคารพาณิชย์ แต่ทั้งนี้เชื่อว่า ด้วยสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิดที่เริ่มคลี่คลาย ภาคธุรกิจจะบริหารสภาพคล่องได้ด้วยวิธีการปกติ โดยไม่ใช้ BSF ที่ดอกเบี้ยแพงกว่าตลาด

www.mitihoon.com