ธรรมศาสตร์’ ตั้งศูนย์กฎหมายสู้ภัยโควิดบริการฟรี – ให้คำปรึกษาโดยทีมคณาจารย์

126

มิติหุ้น – ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 ชัดเจนขึ้นตามระยะเวลาที่ทอดยาวออกไป มีธุรกิจจำนวนมากที่ประกาศลดชั่วโมงการจ้างงานเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย บางแห่งตัดสินใจเลิกจ้างพนักงาน หรือถึงขั้นปิดกิจการถาวรก็มีให้เห็นไม่น้อย

ผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างเป็นลูกโซ่เหล่านั้นมักจะตามมาด้วยข้อพิพาททางกฎหมาย เห็นได้จากสถิติการขอรับบริการที่ ศูนย์ให้คำปรึกษาทางกฎหมายกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโคโรนาไวรัส มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU Pandemic Legal Aid Centre) ซึ่งเกินครึ่งเกี่ยวข้องกับ “การจ้างงาน” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลิกจ้าง

นอกจากนี้ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด 19 ยังมีอีกหลากหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ        “ข้อกฎหมาย” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลกระทบที่มีต่อสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญา เรื่องการเผยแพร่ข้อมูล เรื่องการเข้า-ออกประเทศ ฯลฯ

เหล่านี้ คือประเด็นปัญหาที่ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 สามารถขอรับคำปรึกษาจาก TU Pandemic Legal Aid Centre ได้ทั้งสิ้น

ที่จริงแล้ว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้ก่อตั้ง “ศูนย์นิติศาสตร์” มาตั้งแต่เมื่อ 40 ปีก่อน       ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้ยากไร้ เพื่อให้เขาเหล่านั้นเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียม

อย่างไรก็ดี เมื่อเกิดไวรัสโควิด 19 แพร่ระบาด ทางคณะนิติศาสตร์จึงได้หารือกันและได้ข้อสรุปที่จะปรับรูปแบบการทำงานของศูนย์นิติศาสตร์ มาเป็น TU Pandemic Legal Aid Centre เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบแบบเฉพาะกิจ ผ่านช่องทางออนไลน์สองช่องทางหลัก คือ Facebook Page และ อีเมล

ภารกิจของศูนย์ให้คำปรึกษาทางกฎหมายแห่งนี้ จะดำเนินการใน 2 เรื่องใหญ่ๆ ได้แก่ 1. ให้คำปรึกษาและให้ความเห็นทางกฎหมาย โดยไม่รวมถึงการว่าความ 2. ให้ความรู้ทางกฎหมายในแง่มุมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โควิด 19

รองศาสตราจารย์ ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าว่า เดิมทีศูนย์นิติศาสตร์จะให้บริการเฉพาะประชาชนผู้ยากไร้ แต่ขณะนี้ได้ปรับเปลี่ยนมาให้บริการแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 โดยจะมีฐานะหรืออาชีพใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน พ่อค้าแม่ค้า หรือนักธุรกิจ แต่ทั้งหมดต้องเป็น “บุคคลธรรมดา” ไม่ใช่นิติบุคคลหรือบริษัทที่มีวัตถุประสงค์ในทางการค้า

สำหรับการให้บริการ ที่ผ่านมาจะเน้นการพูดคุยแบบพบปะเจอหน้าซึ่งกันและกัน แต่ในสถานการณ์พิเศษนี้ได้ปรับเปลี่ยนมาให้คำปรึกษาผ่านทาง “ออนไลน์” เพียงช่องทางเดียวเท่านั้น

“แน่นอนว่าการให้คำปรึกษาต้องมีความน่าเชื่อถือ หรือในบางกรณีที่เป็นข้อเท็จจริงซึ่งยังไม่ยุติก็จำเป็นต้องมีการถกเถียงกันพอสมควร ทางศูนย์ฯ จึงมีคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขากฎหมายต่างๆ กว่า 10 ชีวิตเป็นผู้ให้ความเห็น โดยมีบัณฑิตจบใหม่รวมถึงนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ของคณะนิติศาสตร์ เป็นผู้รับเรื่องจากเคสทางออนไลน์” อาจารย์มุนินทร์ อธิบาย

แม้ว่า TU Pandemic Legal Aid Centre จะยังเปิดบริการได้ไม่ครบ 1 เดือนเต็ม หากแต่ก็ให้คำปรึกษาแก่ผู้เดือดร้อนไปเป็นจำนวนมาก

คณบดีคณะนิติศาสตร์บอกว่า ขณะนี้ศูนย์ฯ ได้ให้คำปรึกษาทางกฎหมายในกรณีที่มีข้อเท็จจริงและปัญหาทางกฎหมายที่มีความซับซ้อนจำนวน 30 กรณี โดยแต่ละกรณีจะใช้เวลาดำเนินการไม่เกิน 72 ชั่วโมง นับตั้งแต่เริ่มรับเรื่อง ประชุมของผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ความเห็น เรียบเรียงความเห็น ตรวจทานความเห็น และส่งคำปรึกษาคืนให้แก่ผู้ที่เดือดร้อน ส่วนใหญ่กระบวนการทั้งหมดใช้เวลาเพียงแค่ 24-48 ชั่วโมงเท่านั้น

“จริงๆ แล้ว ทางศูนย์ฯ ได้ตอบคำถามไปเยอะมากกว่า 30 กรณี แต่ 30 กรณีที่ว่านี้เป็นกรณีที่มีข้อเท็จจริงที่ซับซ้อนและมีประเด็นปัญหาทางกฎหมายที่แตกต่างจากเดิม ถ้ามีคำถามหรือปัญหาเหมือนกับกรณีที่เราได้ตอบไปแล้ว เราก็จะใช้ความเห็นทางกฎหมายเดียวกันตอบไปได้เลย โดยไม่นับเป็นกรณีใหม่ หรือบางครั้งก็มีคำถามในลักษณะขอความรู้ทางกฎหมายที่ไม่ซับซ้อน เราก็สามารถตอบไปได้เลย โดยไม่ได้นับเป็นกรณีใหม่” อาจารย์มุนินทร์ กล่าว และว่า จากการรวบรวมสถิติพบว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของกรณีทั้งหมดเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ “แรงงาน” รองลงมาคือหนี้และสัญญา อาญา และปกครอง ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนให้เห็นภาพของผลกระทบที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้อย่างชัดเจน

อาจารย์มุนินทร์ อธิบายต่ออีกว่า ในส่วนของการให้ความรู้ทางกฎหมาย ศูนย์ฯ ก็จะเผยแพร่บทความขนาดสั้นผ่านช่องทางเพจ Facebook ของศูนย์ อาทิ เรื่องผลกระทบที่มีต่อสิทธิหน้าที่ของคู่สัญญา เรื่องความรับผิดทางอาญาของคนที่เผยแพร่ข้อมูลโควิด 19 แล้วก่อให้เกิดผลกระทบแก่บุคคลอื่น เรื่องการเลิกจ้างและสิทธิค่าชดเชย เรื่องความสัมพันธ์ทางสัญญา หนี้ เรื่องสิทธิของคนที่อยู่ต่างประเทศ ฯลฯ

“หรืออย่างเคสที่เราทำแล้ว เราจะนำประเด็นปัญหาที่ถูกถามบ่อยๆ หรือสังคมกำลังให้ความสนใจมาเขียนเป็นบทความวิชาการขนาดสั้น 2-3 หน้า บทความที่ได้รับการเผยแพร่ช่วยตอบคำถามที่ค้างคาใจของผู้ที่มีปัญหาที่เกี่ยวข้องได้อีกจำนวนมาก และเขาอาจไม่จำเป็นต้องส่งคำถามมาถามเราโดยเฉพาะเจาะจงอีกต่อไป” อาจารย์มุนินทร์ระบุ

ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 สามารถขอรับคำปรึกษาจาก ศูนย์ให้คำปรึกษาทางกฎหมายกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโคโรนาไวรัส มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ที่ 1. Facebook Page @tulawcovid19 2. อีเมล tulawcovid19@gmail.com โดยให้ส่งคำถามหรือปัญหาพร้อมระบุชื่อ-นามสกุลและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน

สำหรับคำถามต่างๆ จะถูกส่งให้ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายในสาขาที่เกี่ยวข้องพิจารณา โดยผู้ขอรับคำปรึกษาจะได้รับความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญภายใน 72 ชั่วโมง แต่บางกรณีอาจใช้เวลานานกว่าหากปัญหาทางกฎหมายมีความซับซ้อน

www.mitihoon.com