BBL เดินหน้ายื่นขออนุมัติซอฟท์โลนธปท. กลุ่มแรกถึงมือลูกค้าแล้ว เน้นช่วยลูกค้าวงกว้างรักษาการจ้างงาน ให้วงเงินเหมาะสม เพิ่มสภาพคล่อง SME สู้ภัยโควิด 19

166

มิติหุ้น-ธนาคารกรุงเทพ เดินหน้ายื่นขออนุมัติธปท.ปล่อยกู้ซอฟท์โลน ตามมาตรการให้ความช่วยเหลือ SME ดอกเบี้ย 2% ต่อปี ระยะเวลา 24 เดือน ฟรีดอกเบี้ย เดือนแรก เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง โดยเน้นกระจายความช่วยเหลือวงกว้าง รักษาการจ้างงาน ให้วงเงินเหมาะสมเพื่อไม่สร้างภาระลูกค้า ด้านลูกค้าผู้ประกอบการกลุ่มแรกที่ได้รับวงเงินซอฟท์โลน โล่งใจช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่อง ยืนยันพร้อมดูแลการจ้างพนักงานทั้งหมดต่อไป

นายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้สนับสนุนมาตรการช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ผ่านมาตรการการสนับสนุนสินเชื่อใหม่ (Soft loan) ให้แก่ธุรกิจ SMEs วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่อง อัตราดอกเบี้ยพิเศษ 2% ต่อปี โดยไม่คิดดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรกจากลูกค้า นั้น ธนาคารกรุงเทพ ได้ทยอยยื่นคำขอของลูกค้าที่เข้าเกณฑ์คุณสมบัติ เพื่อพิจารณาอนุมัติวงเงินสินเชื่อซอฟท์โลนจากธปท. โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม หรือการกำหนดให้ทำประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองสินเชื่อเพิ่มเติมแต่อย่างใด ส่วนด้านหลักประกันสินเชื่อ ทางธนาคารจะพิจารณาให้เป็นไปตามความเหมาะสมกับการประเมินระดับความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละราย รวมกับการพิจารณาประวัติความรับผิดชอบหนี้ของลูกค้า ควบคู่กับความสามารถในการปรับตัวและโอกาสการฟื้นตัวของธุรกิจเป็นสำคัญ 

 ธนาคารเน้นกระจายความช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบในวงกว้าง โดยเงินกู้ soft loan จะช่วยสภาพคล่องด้านเงินทุนหมุนเวียนและค่าใช้จ่ายดำเนินการโดยเฉพาะเงินเดือนพนักงานที่ต้องใช้เพื่อรักษาการจ้างงานและบุคลากรที่จำเป็นต้องรักษาไว้ ให้สามารถกลับมาดำเนินการเมื่อสถานการณ์เศษฐกิจคลี่คลาย

นายศิริเดช กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากเรื่องวงเงินสินเชื่อ ธนาคารมีความตั้งใจที่จะช่วยเหลือลูกค้าในกลุ่ม SME โดยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ดูแลและให้คำปรึกษากับลูกค้า ทั้งการปรับเงื่อนไขการใช้วงเงิน ปรับแผนการผ่อนชำระหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ในปัจจุบัน และช่วยจัดโครงสร้างทางการเงิน  เพื่อให้ลูกค้าสามารถข้ามผ่านสถานการณ์ในช่วงนี้ไปได้ พร้อมกับคอยเฝ้าระวังสถานการณ์ที่จะมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของลูกค้าในอนาคต ธนาคารเน้นการทำงานร่วมกับลูกค้าอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง

ด้านนายกิตติวุฒิ ศศิวิมลพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมทัล บิวล์ดิง (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตหลังคาและโครงสร้างเหล็กคุณภาพสูง ซึ่งเป็นธุรกิจกลุ่มแรกที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อซอฟท์โลน กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันกระทบต่อธุรกิจอย่างมากเนื่องจากพนักงานไม่สามารถเข้าไปปฏิบัติงานในสถานที่ต่างๆ ได้ จึงไม่สามารถส่งมอบงานและเก็บเงินค่าจ้างได้ตามกำหนด ซึ่งธุรกิจได้เตรียมการล่วงหน้าเพื่อจัดส่งพนักงานลงพื้นที่ปฏิบัติงานไปแล้ว จึงมีภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับ เพื่อดูแลด้านที่พักและอาหารสำหรับพนักงานตามที่กำหนดไว้ ซึ่งความช่วยเหลือผ่านสินเชื่อซอฟท์โลนที่ได้รับ จะเข้ามาช่วยให้ธุรกิจไม่สะดุดจากปัญหาสภาพคล่องที่กำลังลดลง จึงสามารถประคองธุรกิจและดูแลพนักงานทั้งหมดเกือบ 100 คนต่อไปได้

สำหรับทุกธุรกิจ Cash flow หรือกระแสเงินสด เป็นเหมือนเส้นเลือดสำคัญที่มาคอยหล่อเลี้ยงต่อลมหายใจให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ โดยฉพาะในยามวิกฤตที่ไม่สามารถขับเคลื่อนธุรกิจได้ตามปกติ และไม่รู้ว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อยาวนานเท่าใด แต่กลับมีค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกวัน โดยเฉพาะการดูแลรักษาพนักงานทุกคนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด การมีสินเชื่อซอฟท์โลนจึงเป็นอีกหนึ่งความช่วยเหลือที่เข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ประกอบธุรกิจได้ในอีกทางหนึ่ง นายกิตติวุฒิ กล่าว

ดร.วิราวรรณ มูลตรีภักดี ผู้ก่อตั้ง โรงเรียนนานาชาติมูลตรีภักดี เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับอนุมัติซอฟท์โลนในกลุ่มแรก กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลให้โรงเรียนได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับไม่ต่ำกว่า 14 ล้านบาทต่อเดือนในการดูแลทั้งอาจารย์และบุคลากรที่มีอยู่ 218 คน ขณะที่รายได้กลับลดลงและไม่เป็นไปตามแผน เนื่องจากทางโรงเรียนได้ช่วยลดภาระให้ผู้ปกครองด้วยการปรับลดค่าเทอมลงประมาณ 20-40ขยายระยะเวลาการจัดเก็บ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองสามารถผ่อนชำระค่าเทอมได้ เพราะสถานการณ์ปัจจุบันผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยกำลังได้รับผลกระทบหนักมาก ก็ต้องผ่อนปรนและช่วยเหลือกันให้ผ่านสถานการณ์นี้ไปให้ได้

ครั้งนี้เรียกได้ว่าเป็นวิกฤตหนักในรอบ 10 ปี ช่วงที่ผ่านมาโรงเรียนได้พยายามปรับตัวเพื่อลดค่าใช้จ่าย ทั้งชะลอแผนการพัฒนาต่างๆ ที่ยังไม่เร่งด่วนออกไปก่อน และขอความร่วมมือจากครูและบุคลากรในโรงเรียนด้วยการปรับลดค่าจ้างสอนลง ทุกคนก็เข้าใจถึงความจำเป็น แต่ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการพัฒนาทักษะและเสริมความรู้ต่างๆ ของเด็ก คงไม่สามารถหยุดหรือชะลอได้ ซึ่งต้องหาทางออกโดยยื่นขอซอฟท์โลนเพื่อมาเสริมสภาพคล่อง และช่วยเหลือให้โรงเรียนยังสามารถรักษามาตรฐานในการพัฒนาทักษะต่างๆ ของเด็ก รวมทั้งการดูแลบุคลากรในโรงเรียนได้อย่างทั่วถึง และเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดเทอมตามปกติ โดยโรงเรียนได้ปรับรูปแบบเป็นการเรียนการสอนผ่านช่องทางออนไลน์แทน ดร.วิราวรรณ กล่าว

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สามารถเข้าร่วมโครงการซอฟท์โลนดังกล่าว ต้องมีคุณสมบัติตามที่ธปท. กำหนดเบื้องต้น คือ ต้องเป็นผู้ประกอบการนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาที่จดทะเบียนและมีสถานที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย ไม่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (SET และ MAI) และมีวงเงินสินเชื่อธุรกิจรวมทั้งกลุ่มกับธนาคารไม่เกิน 500 ล้านบาท รวมถึงมีสถานะผ่อนชำระปกติหรือค้างชำระไม่เกิน 90 วัน (ไม่เป็น NPL) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 โดยผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม และขอรับคำแนะนำได้จากเจ้าหน้าที่ธุรกิจสัมพันธ์ของธนาคารกรุงเทพที่ลูกค้าใช้บริการอยู่ หรือบัวหลวงโฟน โทร. 1333 หรือ 0-2645-5555 หรือ https://www.bangkokbank.com/th-TH/COVID19-Update

www.mitihoon.com