การบินไทย..ยืนบนชะง่อนผา!

1537

 

กำลังยืนอยู่บนชะง่อนผา จ่อถลาออกนอกรันเวย์….

กับสถานการณ์ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สายการบินแห่งชาติที่เคยเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยมาหลายทศวรรษ แต่วันนี้ในวัยที่กำลัง “ร่วงโรย”นั้นการบินไทยกำลังยืนอยู่บนชะง่อนผาจ่อ “ล้มละลายทั้งยืน” จนคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และรัฐบาลต้องตัดสินใจเข้าไปโอบอุ้ม (อีกครั้ง)

ท่ามกลางข้อกังขาของผู้คน รัฐบาลจะอุ้มและกระเตง (ซากเน่า) การบินไทยไปถึงไหน?!!!

โดยล่าสุดนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ( คนร.) เมื่อวันที่ 29 เมษายน 63 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหมเป็นประธาน ได้เห็นชอบแผนแก้ไขปัญหาของบริษัทการบินไทย ตามที่กระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลังเสนอ

ในรายละเอียดแผนแก้ไขปัญหาของการบินไทยดังกล่าว ซึ่งไม่เป็นที่เปิดเผยแต่มีกระแสข่าวระบุตรงกันว่า ที่ประชุม คนร.ได้เห็นชอบให้กระทรวงการคลังเข้าไปช่วยค้ำประกันเงินกู้ให้กับการบินไทยวงเงิน 50,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องระยะสั้นให้กับบริษัทไปจนถึงสิ้นปี 2563 ซึ่งเป็นการปรับลดน้อยกว่าแผนเดิมที่ขอมา 70,000 ล้านบาท และให้การบินไทยไปเร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ในประเทศ เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน รวมถึงเจ้าหนี้ต่างประเทศ หลังจากที่แผนงานทั้งหมดผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 5 พฤษภาคมนี้แล้ว

ส่วนสถานะของการบินไทย ที่นัยว่าจะต้องมีการเพิ่มเติม ขายหุ้นในส่วนของรัฐหรือกระทรวงการคลังออกไปหรือไม่นั้น ยังไม่เป็นที่เปิดเผย มีเพียงกระแสข่าวที่แพร่สะพัดออกไปว่ากระทรวงการคลังจะขายหุ้นออกไปให้กองทุนวายุภักดิ์ และบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ของกระทรวงการคลังเอง 2-3% ซึ่งจะมีผลทำให้การบินไทยหลุดพ้นความเป็นรัฐวิสาหกิจมาสู่บริษัทมหาชนเต็มตัวพร้อมกับจะมีการยกเครื่องธุรกิจภายในการบินไทย เพื่อยกสถานะของการบินไทยให้เป็น Holding Company เต็มตัว ก่อนจะทำการปัดฝุ่นแผนการแยกกิจการที่เป็น Business Unit Model 5 BU ออกมาดำเนินการอย่างจริงจัง อาทิ ศูนย์ซ่อมเครื่องบิน, กิจการครัวการบิน , กิจการกราวด์เซอร์วิส (GSH)

แต่ทั้งหลายทั้งปวงนั้นก็ยังไม่เป็นที่ยืนยัน ต้องรอให้ ครม.เคาะโต๊ะอีกครั้ง

เพราะเชื่อแน่ว่า สหภาพรัฐวิสาหกิจการบินไทยคงลุกฮือต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เปิดทางให้บริษัทเอกชนเข้ามาผงาดแทนที่แน่ และคงจะมีการกระพือประเด็นที่รัฐกำลังบอนไซรัฐวิสาหกิจเพื่อเอื้อให้สายการบินเอกชนต่างชาติเข้ามาล้วงตับผลประโยชน์ของชาติเป็นแน่

ย้อนรอยแผนฟื้นฟูบินไทย!

หากทุกฝ่ายจะได้ย้อนกลับไปพิจารณาสถานะของการบินไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา กล่าวได้ว่า อยู่ในสถานะที่เผชิญกับวิกฤตจากการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินอย่างรุนแรงมานับทศวรรษ โดยมีผลการดำเนินงานขาดทุนอย่างต่อเนื่องมานานนับสิบปี และจัดเป็น 1 ใน 7 รัฐวิสาหกิจที่ต้องจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง และ คนร.มาอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา นับแต่ปี 2557 เป็นต้นมา

ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2557-58 การบินไทยเคยจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการตามที่กระทรวงการคลังและ คนร.สั่งการ อันประกอบด้วยแผนฟื้นฟูหลัก “3 S 6 แผน” ซึ่งครอบคลุม 5 ประเด็นหลัก คือ 1.การปรับเส้นทางบิน Network strategy เลิกทำการบินในเส้นทางบินที่ขาดทุน ส่วนเส้นทางที่ยังมีแนวโน้มจะทำกำไรได้ก็ให้พิจารณาปรับลดเที่ยวบินลง เป็นต้น

2. การปรับแผนการตลาดเน้นการปรับกลยุทธ์ในการขายตั๋ว โดยจะเพิ่มสัดส่วนการขายตั๋วผ่านระบบออนไลน์ และการจำหน่ายตั๋วเอง รวมทั้งการขยายเครือข่ายการขายตั๋วให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ได้มากขึ้น 3.แผนการขายทรัพย์สินและอากาศยานที่ไม่ได้ใช้งาน เช่นปลดระวางเครื่องบิน 22 ลำ 4. ปรับโครงสร้างอัตรากำลังจาก 2.5 หมื่นคนในปี 2558 เหลือไม่เกิน 20,000 คนในระยะ 5 ปี และ 5. ปรับปรุงพัฒนากิจการที่ไม่ใช่ภารกิจหลัก(Non -Core) เช่น กิจการโรงแรม กิจการขนส่งน้ำมัน เป็นต้น จะต้องไปพิจารณาว่าส่วนใดจะโอนหรือขายกิจการออกไป

แต่ทุกอย่างก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า การบริหารจัดการภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการที่กระทรวงการคลัง และ คนร. แถลงต่อสาธารณะชนมาโดยตลอดว่าทุกอย่างเป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการตลอดช่วงกว่า 5 ปีที่ผ่านมาก่อนวิกฤตสถานการณ์โควิด -19 ล้วนเป็นเรื่องหลอกลวงโดยสิ้นเชิง ผู้บริหารมืออาชีพโดยเฉพาะตัวกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หรือ “ดีดีการบินไทย” ที่กระทรวงการคลัง หรือแทบจะระบุลงไปว่า คนที่รองนายกฯสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ส่งเข้าไปไม่รู้กี่คนต่อกี่คน แม้แต่ดีดีคนล่าสุด นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม ที่เพิ่งไขก๊อกไปเมื่อวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา ล้วนไม่สามารถจะขับเคลื่อนองค์กรการบินไทยให้เป็นไปตามาเป้าหมาย และเป็นไปตามแผนได้

ความสำเร็จหรือล้มเหลวของการฟื้นฟูกิจการบินไทยนั้นกล่าวได้ว่า ล้วนอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการคลัง และ คนร.มาโดยตลอด และไม่อาจจะหยิบยกเอาวิกฤตไวรัสโควิด-19 มาเป็นสาเหตุที่ทำให้การบินไทยอยู่ในสภาพเช่นนี้ได้ เพราะการบินไทยนั้นเผชิญวิกฤตที่แทบจะอยู่ในสภาวะล้มละลายนี้มานับทศวรรษแล้ว

การที่รัฐตัดสินใจเข้าไปโอบอุ้มและกระเตง(ซากเน่า)การบินไทยหนนี้ เป็นเพียงการยืดเวลาล้มละลายออกไปเท่านั้น เพราะไม่ต้องการจะเผชิญข้อกล่าวหาว่า “ขายชาติ”ทำลายรัฐวิสาหกิจที่เคยเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งชาติเท่านั้น โดยทุกฝ่ายต่างรู้แก่ใจกันดี แม้รัฐบาลและคลังจะอัดฉีดเม็ดเงินกว่า 50,000 ล้านหรือ 100,000 ล้านเข้าไปในวันนี้ ก็คงได้แค่ยืดลมหายใจของการบินไทยออกไปเท่านั้น อย่างไรเสียการบินไทยก็คงอยู่ในสภาพ ตายทั้งเป็นอยู่ดี!!

นอกจากนั้น การตัดสินใจ “กระเตง” การบินไทยต่อไป ยังปฏิเสธไม่ได้เลยว่า คือความพยายาม “ไถ่บาป” กลบผลงานความล้มเหลวของ คนร. เองนั่นแหล่ะ จากการที่ไม่สามารถจะฟื้นฟูกิจการให้เป็นไปตามเป้าหมายได้ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้ในสถานการณ์ปกติการบินไทยก็ยังไม่สามารถจะฟื้นฟูกิจการให้กลับมาผงาดเป็นสายการบินแห่งชาติ สายการบินแห่งความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งชาติได้ และแม้กระทรวงการคลัง และ คนร.จะสั่งให้ฝ่ายบริหารและบอร์ดการบินไทย ที่ส่วนใหญ่เป็นคนที่กระทรวงการคลังเลือกเฟ้นให้เข้าไปบริหารและกำกับดูแลด้วยตนเอง แต่ระยะเวลากว่า 5-6 ปีที่ผ่านมา ย่อมเป็นบทพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่า สุดท้ายแล้วแผนฟื้นฟูกิจการเหล่านั้นก็กลับ “ล้มเหลวไม่เป็นท่า”

กระะเตงบินไทย..กลบผลงานความล้มเหลว?

แม้เราจะเห็นด้วยอย่างยิ่งที่รัฐบาลมีความจำเป็นต้องเข้าไปโอบอุ้มการบินไทย ไม่ปล่อยให้ล้มละลายลงไปต่อหน้า และต้องเร่งจัดทำแผนฟื้นฟูการบินไทยต่อไป แต่ก็อดแสดงความเป็นกังวลไม่ได้ว่า จะคาดหวังแผนฟื้นฟูกิจการที่ว่านี้ได้มากน้อยแค่ไหน

เอาแค่ตัวเลขผู้โดยสารเครื่องบินผ่านสนามบินทั่วประเทศนับจากอดีตเมื่อปี2557 ที่มีจำนวนมากกว่า 80 ล้านคน จากเที่ยวบินทั้งหมด 609,937 เที่ยวบิน เป็นผู้โดยสารระหกว่างประเทศ 51 ล้านคนและในประเทศ 36 ล้านคน จนทะยานขึ้นมาถึง 141 ล้านคน โดยมีเที่ยวบินรวมทั้งสิ้นเกือบ 900,000 เที่ยวบิน ในปี 2562 เป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 84 ล้านคน และภายในประเทศ 57 ล้านคนนั้น หากการบินไทยมีการบริหารจัดการที่ดีก็เชื่อแน่ว่าจะต้องเป็น “เจ้าตลาด” ที่ครอบครองส่วนแบ่งผู้โดยสารมากที่สุด โดยเฉพาะเที่ยวบินในประเทศที่การบินไทย เป็นผู้ครองตลาดแต่เพียงผู้เดียวมาแต่ไหนแต่ไร

แต่กลับไม่น่าเชื่อว่า ในรายงานผลการดำเนินงานของการบินไทยในปี 2557 นั้น ปริมาณผู้โดยสารในประเทศกลับถูกสายการบินต้นทุนต่ำอย่างแอร์เอเชียช่วงชิงส่วนแบ่งไปถึง 13 ล้านคน ยังไม่นับสายการบินบางกอกแอร์ นกแอร์ และสายการบินอื่นๆ ที่แย่งผู้โดยสารไปอีก

ขณะที่ในปี 2562 นั้น รายงานผลการดำเนินงานขอการบินไทยเองระบุว่า มีจำนวนผู้โดยสารรวมทั้งหมดเพียง 24.51 ล้านคนเท่านั้น มีรายได้รวมอยู่ที่ 184,000 ล้านบาทเศษ ลดลงจากปีก่อน 15,400 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิอยู่ 12,000 ล้านบาท ซึ่งหมายความว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แม้ปริมาณนักท่องเที่ยวและผู้โดยสารจะทะยานขึ้นมากว่า 50 ล้านคน จาก 80 ล้านคน ในปี 2557 เป็น 141 ล้านคน ในปี 2562 แต่การบินไทยกลับมีสัดส่วนในการขนส่งผู้โดยสารโดยรวมอยู่เพียง 17.37% เท่านั้น ลดลงจากในอดีตเสียอีก เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพและศักยภาพของการบินไทยในเวลานี้ได้เป็นอย่างดี

เมื่ออุตสาหกรรมการบินทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤตไวรัสสูบนรก โฉมหน้าของอุตสาหกรรมการบินนับจากนี้จะเปลี่ยนไปจากอดีตโดยสิ้นเชิง ไม่เพียงแต่ในแง่ของการแข่งขันที่ยังคงจะทวีความรุนแรงอยู่ต่อไป แต่การแก่งแย่งจำนวนผู้โดยสารคงจะไม่เกิดขึ้นอีก ด้วยข้อจำกัดในการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสทำให้สายการบินจำเป็นต้องมีมาตรการการปรับที่นั่งผู้โดยสารและอัตราการบรรทุกผู้โดยสารกันใหม่ยกกระบิกันทั่วโลก ไม่สามารถจะยัดผู้โดยสารเข้าไปเต็มลำเรือได้เช่นในอดีตอีกแล้ว ความคาดหวังที่จะมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารกัน 60-70% เช่นในอดีตคงไม่เห็นกันอีกแล้วอย่างน้อยก็ในระยะ 1-2 ปีจากนี้

เมื่อรัฐและกระทรวงการคลังตัดสินใจที่จะกระเตงและโอบอุ้มการบินไทยต่อไป ในท่ามกลางอุตสาหกรรมการบินที่ยังคงจะแข่งขันกันรุนแรง ขณะที่ยังคงเต็มไปด้วยข้อจำกัดเช่นนี้ ก็ต้องพร้อมยอมรับกับกระแสสังคมที่คงจะกดดันอย่างรุนแรงเช่นกัน!

ที่มา : http://www.natethip.com/news.php?id=2253

โดยเนตรทิพย์กระพริบข่าวร้อน

www.mitihoon.com