มิติหุ้น-กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.65-31.95 ต่อดอลลาร์เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 31.81 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้น 1.5 พันล้านบาท แต่ขายพันธบัตร 9.8 พันล้านบาท ขณะที่ในเดือนพฤษภาคม เงินบาทแข็งค่าขึ้นราว 1.7% รองจากเงินรูเปียห์อินโดนีเซียซึ่งแข็งค่าขึ้น 1.9% ส่วนสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคปรับตัวอ่อนค่าลงจากเดือนก่อนหน้า
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่าตลาดจะติดตามผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ขณะที่เงินยูโรแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 2 เดือนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) เปิดเผยแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจขนาด 7.5 แสนล้านยูโร เพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติไวรัสโควิด-19 และนักลงทุนจะยังคงติดตามข้อมูลการจ้างงานเดือนพฤษภาคมของสหรัฐฯ รวมทั้งสถานการณ์การประท้วงในสหรัฐฯ และความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจะอยู่ในความสนใจของนักลงทุนเช่นกัน ทั้งนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะเริ่มต้นกระบวนการยกเลิกการปฏิบัติแบบพิเศษต่อฮ่องกงเพื่อตอบโต้จีนที่ผ่านกฎหมายความมั่นคงใหม่ในฮ่องกง อย่างไรก็ดี ตลาดคลายกังวลที่ทรัมป์ไม่ได้ระบุถึงการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงการค้าเฟสแรกกับจีน
สำหรับปัจจัยในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แสดงความกังวลว่าในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าเร็วกว่าสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค ขณะที่ราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นมีส่วนทำให้เงินบาทแข็งค่า โดยธปท.จะเข้ามาดูแลธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับทองคำมากขึ้นเพื่อลดผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน อีกทั้งพร้อมพิจารณาดำเนินมาตรการเพื่อไม่ให้การแข็งค่าของเงินบาทซ้ำเติมความเปราะบางของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยเดือนเมษายนหดตัวรุนแรงจากมาตรการล็อกดาวน์ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัว 100% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน การบริโภคภาคเอกชนทรุดตัวในทุกหมวดจากกำลังซื้อที่อ่อนแอลงมากแม้การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวต่อเนื่องจากการทยอยจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 สำหรับบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเล็กน้อย เราประเมินว่าท่าทีล่าสุดของทางการอาจช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทได้บ้าง แต่ภาพใหญ่ยังอยู่ที่บรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงซึ่งหากยังได้แรงหนุนจากการเปิดเมืองและมาตรการพยุงเศรษฐกิจทั่วโลก อาจกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อได้ในระยะนี้
www.mitihoon.com