มิติหุ้น-‘ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น’ มองศักยภาพประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเมดิคอลฮับของภูมิภาค หลังแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ได้ดี ผนึกกำลังพันธมิตรพัฒนาหุ่นยนต์ ‘AGV Hospital Cart Transport System’ ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อรับ-ส่งยา อาหาร และสื่อสารกับคนไข้ในโรงพยาบาล ช่วยลดภาระทีมแพทย์และพยาบาล พร้อมยกระดับสู่ผู้พัฒนาหุ่นยนต์แบบ Automated Mobile Robots (AMR) ที่ใช้เทคโนโลยีเลเซอร์สแกนเนอร์นำทาง และ GPS กำหนดพิกัด รองรับดีมานด์และร่วมสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจให้บริการทางการแพทย์ ตลอดจนศักยภาพประเทศไทยในการเป็นเมดิคอลฮับของภูมิภาคนี้
นางกัลยาณี คงสมจิตร ประธานกรรมการ บริษัททีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจตัวแทนจัดจำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรม อุปกรณ์เครื่องจักรขนาดใหญ่ และให้คำปรึกษาด้านการดูแลและซ่อมบำรุง ภายใต้แนวคิด ‘Number 1 F.A. Solutions Provider in Thailand’ เปิดเผยว่า บริษัทฯ เล็งเห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (เมดิคอลฮับ) ของภูมิภาคอาเซียน หลังจากสามารถบริหารจัดการและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก รวมถึงมีอัตราผู้ติดเชื้อที่เสียชีวิตในระดับต่ำ จึงมองว่าการนำนวัตกรรมด้านหุ่นยนต์และเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาแบ่งเบาภาระของทีมแพทย์และพยาบาลนั้นมีความจำเป็น และช่วยลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของ COVID-19 จากการสัมผัส รวมถึงขับเคลื่อนบริการทางการแพทย์ให้มีศักยภาพที่ดียิ่งขึ้น
ล่าสุด บริษัทฯ จึงใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาและวางระบบออโตเมชั่นในโรงงานอุตสาหกรรม ก้าวสู่ผู้พัฒนาหุ่นยนต์แบบครบวงจร โดยร่วมมือกับสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และบริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) พัฒนานวัตกรรมหุ่นยนต์ ‘AGV Hospital Cart Transport System’ ที่มีความสามารถในการเคลื่อนที่บนแถบแม่เหล็กนำทางได้เองโดยไม่ต้องควบคุมสั่งการ เพื่อเป็นผู้ช่วยในการขนส่งยา อาหารและอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ สามารถสื่อสารกับคนไข้ผ่านหน้าจอของหุ่นยนต์และหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้เองด้วยระบบเซ็นเซอร์ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระและลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ โดยสามารถผลิตหุ่นยนต์ได้ด้วยต้นทุนต่ำเพียงตัวละประมาณ 4 แสนบาท และมีคุณภาพมาตรฐานเทียบกับหุ่นยนต์ AGV นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาอยู่ที่ตัวละ 8 แสน – 1.2 ล้านบาท
“การที่ประเทศไทยจะก้าวสู่อุตสาหกรรมยุค 4.0 จำเป็นต้องการนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและหุ่นยนต์เข้ามาใช้เพิ่มขีดความสามารถการผลิตและให้บริการ ซึ่งรวมถึงการให้บริการทางการแพทย์ในโรงพยาบาลต่างๆ เราจึงมองว่าการพัฒนาหุ่นยนต์ AGV เพื่อเป็นผู้ช่วยในโรงพยาบาลมีความจำเป็นเพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคตและก้าวสู่ยุคดิจิทัล และยังสามารถช่วยลดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้อีกด้วย” นางกัลยาณี กล่าว
สำหรับหุ่นยนต์ AGV Hospital ได้รับการออกแบบและพัฒนาด้วยอุปกรณ์พิเศษ ‘เกรดอุตสาหกรรม’ โดยนำ
จุดแข็งของพันธมิตรทั้ง 3 ฝ่าย ด้านระบบอุตสาหกรรมอัตโนมัติและหุ่นยนต์โลจิสติกส์ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม
นำมาประยุกต์ในการสร้างหุ่นยนต์ดังกล่าว ซึ่งพัฒนาให้สามารถสั่งการได้ทั้ง 2 ระบบ แบบ 2 in 1 สามารถเคลื่อนที่ไปหาคนไข้ได้เองตามเส้นแม่เหล็กที่สามารถนำไปติดตั้งและปรับเปลี่ยนได้ง่ายโดยไม่ต้องมีผู้ควบคุม หรือสั่งการทางไกลจากโมบาย แอปพลิเคชั่น หรือรีโมทคอนโทรล โดยติดตั้งกล้องและจอแสดงผลบนตัวหุ่นยนต์เพื่อให้แพทย์และพยาบาลสามารถสื่อสารกับคนไข้ มีระบบสแกนคนไข้เพื่อยืนยันตัวตน สามารถตรวจวัดอุณหภูมิโดยไม่ต้องสัมผัสคนไข้ มีระบบทำความสะอาดตัวเองเพื่อกำจัดเชื้อโรคหลังจากทำงานเสร็จ ติดตั้งเซ็นเซอร์กันชนหน้า-หลังป้องกันการชนสิ่งกีดขวาง และใช้งานต่อเนื่องนาน 6-8 ชั่วโมงต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง รวมถึงสามารถประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆได้อีกด้วย
ประธานกรรมการ ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า บริษัทฯ ไม่หยุดการพัฒนาต่อยอดจากระบบ AGV ล่าสุดได้ยกระดับการพัฒนานวัตกรรมหุ่นยนต์แบบ Automated Mobile Robots หรือ AMR ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุดที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม สามารถเคลื่อนที่ไปยังจุดหมายปลายทางได้โดยไม่ต้องใช้เส้นแถบแม่เหล็ก โดยใช้เทคโนโลยีเลเซอร์สแกนเนอร์ และระบบ GPS ในการกำหนดพิกัด เพียงมี Floor plan ของอาคารสถานที่และใช้ระบบ 5G เป็นตัวเชื่อมสัญญาณ ถือเทคโนโลยีและวิทยาการที่ล้ำสมัยของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งจะเป็นนวัตกรรมที่เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบและกระบวนการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยุค 4.0
“เราต้องการขยายขีดความสามารถจากผู้ให้บริการด้านโซลูชั่นแก่โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ มาเป็นผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาหุ่นยนต์ โดยเชื่อว่าภายใน 2 ปีข้างหน้า ปริมาณความต้องการใช้หุ่นยนต์ AGV และ AMR มีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะมีอัตราเติบโตถึง 300% จากปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการในโรงพยาบาล ตลอดจนอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ต้องการนำนวัตกรรมเข้าเพิ่มขีดความสามารถด้านการบริการและภาคการผลิตในอนาคต เพื่อทดแทนแรงงาน และพัฒนาทักษะบุคลากรด้านอื่นๆ เป็นการเพิ่มศักยภาพให้แก่องค์กร” นางกัลยาณี กล่าว
www.mitihoon.com