ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 38- 43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 40 – 45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 13 กรกฎาคม 2563
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (13 – 17 ก.ค. 63)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัว โดยตลาดได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันในหลายประเทศทั่วโลกที่กำลังฟื้นตัวหลังผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง และตัวเลขเศรษฐกิจ อาทิ ตัวเลขการว่างงานและดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ ที่มีทิศทางที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย. – พ.ค. 63 ที่ผ่านมา ประกอบกับอุปทานน้ำมันที่ลดลงตามข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร อย่างไรก็ตาม ตลาดยังถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดครั้งใหม่ของไวรัสโควิด-19 หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
- ความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะความต้องการใช้น้ำมันเบนซินที่ปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 63 ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลง แม้โรงกลั่นในสหรัฐฯ จะเพิ่มกำลังการกลั่นบ้างแล้ว
- ตัวเลขเศรษฐกิจทั่วโลกมีทิศทางที่ดีขึ้น หลังตัวเลขของสหรัฐฯ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ(Service ISM) เดือน มิ.ย. 63 ปรับตัวสูงขึ้นเป็น 1 จาก 45.4 ในเดือน พ.ค. 63 ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 4.8 ล้านตำแหน่งในเดือน มิ.ย. 63 ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.0 ล้านตำแหน่งและอัตราการว่างงานเดือน มิ.ย. 63 ปรับลดลงสู่ระดับร้อยละ 11.1 จากร้อยละ 13.3 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับลดลงเดือนสองติดต่อกัน ขณะที่ตัวเลขฝั่งยุโรป เช่น คำสั่งซื้ออุตสาหกรรมของเยอรมนีปรับเพิ่มขึ้นกว่า 10% ในเดือน พ.ค. 63 ส่งสัญญาณแสดงถึงความต้องการใช้น้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น หลังผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง
- การขนส่งน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบจากการปิดท่อน้ำมัน Dakota Access ที่ส่งน้ำมันได้วันละ 7 แสนบาร์เรล ตามคำสั่งศาลสหรัฐฯ เนื่องจากท่อดังกล่าวได้พาดผ่านทะเลสาบ Oahe ในรัฐเซาท์ดาโคตา สร้างความกังวลให้กับสิ่งแวดล้อมโดยรอบ ทำให้การขนส่งน้ำมันดิบจากบริเวณดังกล่าวอาจต้องใช้วิธีขนส่งทางรางที่มีอยู่อย่างจำกัดแทน
- บริษัท Saudi Aramco ประกาศปรับขึ้นราคาขายน้ำมันดิบอย่างเป็นทางการของเดือน ส.ค. 63 (Official Selling Price) สำหรับลูกค้าในเอเซีย 1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และปรับขึ้นราว 2 – 1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สาหรับลูกค้าในยุโรปและสหรัฐฯ หลังคาดการณ์ว่าความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
- ความต้องการใช้น้ำมันอาจได้รับแรงกดดันอีกครั้ง เนื่องจากหลายรัฐในสหรัฐฯ กำลังพิจารณาที่จะบังคับใช้มาตรการปิดเมืองอีกครั้ง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ล่าสุดจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันยังคงสูงถึง 50,000 คน และคาดการณ์ว่าตัวเลขอาจปรับเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในอนาคต หากไม่มีการควบคุมอย่างเข้มงวด ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมแตะระดับ 3 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตพุ่งสูงกว่า 130,000 คน
- สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 3 ก.ค. 63 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 309 ล้านบาร์เรล
- ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของลิเบียอาจเพิ่มขึ้น หลังบริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบียประกาศยกเลิก Force majeure แหล่งผลิตน้ำมันดิบ Es Sider อย่างไรก็ตาม บริษัทออกมาระบุว่าจะยังไม่มีการเพิ่มปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากแหล่งผลิตนี้
- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐฯ เดือน มิ.ย. 63 ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหราชอาณาจักร เดือน มิ.ย. 63 การตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่นและผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศจีน ไตรมาสที่สอง
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (6 – 10 ก.ค. 63)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 0.10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 40.55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สำหรับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 0.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 43.24 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 43.81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยตลาดยังคงถูกกดดันท่ามกลางความกังวลต่อการแพร่ระบาดระลอกสองของเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังจำนวนผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ และหลายประเทศทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันในประเทศ ล่าสุด รัฐฟลอริดาได้ประกาศใช้มาตรการปิดเมืองบางส่วนอีกครั้ง ส่วนรัฐวิกตอเรียของออสเตรเลียได้กลับมาใช้มาตรการควบคุมดังกล่าวเป็นเวลา 6 สัปดาห์เช่นกัน เพื่อสกัดการแพร่ระบาด อย่างไรก็ตาม ตลาดน้ำมันได้รับแรงหนุนหลังตัวเลขทางเศรษฐกิจทั่วโลกมีทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณแสดงถึงความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังหลายประเทศเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง ประกอบกับอุปทานลดลงจากการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรที่ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.ค. 63