TMB รายงานกำไรครึ่งปีแรกของปี 2563 ที่ 7,258 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 108%

369

ทีเอ็มบี รายงานกำไรครึ่งปีแรกของปี 2563 ที่ 7,258 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 108% จากปีก่อน เน้นเพิ่มสภาพคล่อง รักษาฐานเงินทุนในระดับสูง และลดหนี้เสียลงมาอยู่ในระดับต่ำที่ 2.34% เสริมความพร้อมในการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง

มิติหุ้น – ทีเอ็มบี หรือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย แจ้งผลประกอบการสิ้นสุดเดือนมิถุนายน ปี 2563 ในวันนี้ โดยสำหรับผลประกอบการ 6 เดือนแรกของปี ทีเอ็มบีมีรายได้เพิ่มขึ้นตามการรับรู้รายได้จากธนาคารธนชาตเข้ามาในงบการเงินรวม ขณะที่การบริหารค่าใช้จ่ายเพื่อการดำเนินงานและเพื่อการรวมกิจการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำให้กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ เพิ่มขึ้น 119.2% จากครึ่งแรกของปี 2562 มาอยู่ที่ 18,653 ล้านบาท ทั้งนี้ ธนาคารตั้งสำรองฯ เป็นจำนวน 9,732 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีทั้งส่วนที่เป็นการตั้งสำรองฯ ตามเกณฑ์และส่วนที่ตั้งเพิ่มเติมเพื่อรองรับแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง ด้านคุณภาพสินเชื่อเน้นการบริหารจัดการในเชิงรุก ทำให้สามารถลดอัตราส่วนหนี้เสียลงมาอยู่ในระดับต่ำที่ 2.34% ซึ่งหลังจากหักสำรองฯ และภาษี ธนาคารมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 7,258 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 107.6% จากครึ่งแรกของปีก่อน

นายปิติ  ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี กล่าวถึงภาพรวมการดำเนินงานว่า “สำหรับครึ่งปีแรก ถือว่าในส่วนของการรวมกิจการทำได้ตามเป้าหมาย โดยเฉพาะในแง่ของการรับรู้ผลประโยชน์ด้านงบดุล (Balance Sheet Synergy) และด้านต้นทุน (Cost Synergy) ขณะที่ขั้นตอนการรวมธนาคาร เช่น การเปิดสาขาร่วมระหว่างทีเอ็มบีและธนาคารธนชาต (Co-location) ก็คืบหน้าได้ตามแผนเช่นกัน

ด้านรายได้ถือว่าทำได้ดีในไตรมาส 1 อย่างไรก็ดี เมื่อเข้าสู่ไตรมาส 2 ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 เริ่มส่งผลกระทบมากขึ้น สิ่งที่ทีเอ็มบีและธนาคารธนชาตให้ความสำคัญจึงเป็นเรื่องของการเร่งให้ความช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ควบคู่ไปกับการเพิ่มความแข็งแกร่งทางการเงิน เพราะประเมินว่าสถานการณ์โควิด-19 จะยังคงสร้างแรงกดดันต่อการดำเนินงานและคุณภาพสินทรัพย์ในช่วงที่เหลือของปี โดย 3 เรื่องหลักที่ธนาคารได้เตรียมความพร้อมไว้ ได้แก่ การคงสภาพคล่องในระดับสูงด้วยการเติบโตฐานเงินฝาก การเพิ่มคุณภาพด้านงบดุลด้วยการลดยอดหนี้เสีย และการคงเงินกองทุนในระดับสูง ซึ่งก็ทำได้ตามแผน เป็นการเพิ่มความสามารถของธนาคารในการรับมือกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในช่วงถัดไป”

ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 2 ธนาคารสามารถเติบโตเงินฝากได้ 3.2% จากไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 1.44 ล้านล้านบาท หนุนโดยเงินฝากลูกค้ารายย่อย No Fixed และ All Free ขณะที่สินเชื่อปรับตัวลดลง 1.5% มาอยู่ที่ 1.38 ล้านล้านบาท ตามการชะลอลงของยอดสินเชื่อใหม่ และจากการปรับโครงสร้างพอร์ตสินเชื่อด้วยการลดสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันและเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อที่มีหลักประกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพอร์ตสินเชื่อรายย่อย ซึ่งปัจจุบันกว่า 90% ของพอร์ตสินเชื่อรายย่อยเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน

ในส่วนของรายได้ของไตรมาส 2 ทั้งรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยชะลอลงจากไตรมาส 1 ซึ่งก็เป็นไปตามคาด เนื่องจากในไตรมาส 2 มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนหดตัวลง ทำให้รายได้รวมอยู่ที่ 16,569 ล้านบาท ลดลง 8.9% ด้านค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่ที่ 7,776 ล้านบาท ลดลง 6.7% ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ อยู่ที่ 8,791 ล้านบาท ลดลง 10.9% จากไตรมาสก่อนหน้า

ในไตรมาส 2 ธนาคารตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้น 4.5% จากไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 4,972 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยการตั้งสำรองฯ ตามเกณฑ์ปกติ  สำรองฯ ส่วนเพิ่มเพื่อรองรับแนวโน้มเศรษฐกิจ และการรับรู้การตั้งสำรองฯ จำนวน 1.6 พันล้านบาท จากธนาคารธนชาต ซึ่งมีเงินลงทุนในตราสารหนี้ของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 3.15 พันล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2.0% ของพอร์ตการลงทุนตามงบการเงินรวม ทั้งนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยไม่มีเงินให้สินเชื่อ หรือตราสารทางการเงินประเภทอื่นๆ ของบริษัทการบินไทยนอกเหนือไปจากนี้ โดยหลักจากหักสำรองฯ และภาษี กำไรสุทธิของไตรมาส 2 อยู่ที่ 3,095 ล้านบาท ลดลง 25.7% จากไตรมาสก่อน

ด้านคุณภาพสินทรัพย์ ธนาคารดำเนินการแก้หนี้เสียเชิงรุกด้วยการตัดหนี้สูญ (Write off) และการขาย ทำให้สามารถลดยอดหนี้เสียลงได้ 12.2% จาก 44,183 ล้านบาท ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 38,805 ล้านบาท ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้เสียลดลงจาก 2.76% ในไตรมาสที่แล้วมาอยู่ที่ 2.34%

สำหรับสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง จากเงินฝากที่เพิ่มขึ้นและการบริหารสภาพคล่องของธนาคาร โดยอัตราส่วน LCR ซึ่งบ่งบอกถึงสินทรัพย์สภาพคล่องที่ใช้รองรับความผันผวนในภาวะวิกฤตของทีเอ็มบีและธนาคารธนชาต อยู่สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 100% มาโดยตลอด โดยปัจจุบันอยู่ในระดับสูงกว่า 200%

ความเพียงพอของเงินกองทุนยังคงแข็งแกร่งและสูงเป็นลำดับต้นๆ ในอุตสาหกรรมธนาคารไทย โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 อัตราส่วน CAR และ Tier I เบื้องต้นอยู่ที่ 18.5% และ 14.6% สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 11.0% และ 8.5% ตามลำดับ

www.mitihoon.com