ทิพยประกันภัย สานต่อ โครงการ “ทิพย สืบสาน รักษา ต่อยอด ศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 8”

182

ทิพยประกันภัยนำคณะครูอาจารย์ ร่วมโครงการ “ทิพย สืบสาน รักษา ต่อยอด ศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 8” เรียนรู้การฟื้นฟูพื้นที่ป่าและอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า จังหวัดชัยภูมิ

คุณวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ ทิพยประกันภัย ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี ร่วมกับศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กองทัพภาคที่ 2 มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และมูลนิธิธรรมดี นำคณะครูอาจารย์จากสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ กว่า 30 คน ร่วมเรียนรู้การฟื้นฟูพื้นที่ป่าและอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ในโครงการ “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชาครั้งที่ 8 อนุรักษ์สัตว์ป่าธรรมชาติ ป่าภูเขียว จ.ชัยภูมิ” พร้อมร่วมกันสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้และปลูกฝังคุณธรรม 4 ประการ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา ให้กับเยาวชนต่อไป โดยได้รับเกียรติจากนายประทีป ศิลปเทศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ เป็นประธานในพิธีเปิด

โดยกิจกรรมตามรอยพระราชาครั้งนี้ได้นำคณะครูอาจารย์กว่า 30 คนเดินทางสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ป่าธรรมชาติที่ถูกทำลายโดยชาวบ้านที่เข้าไปปลูกพืช ตั้งหลักแหล่ง รวมถึงล่าสัตว์ป่าโดยเฉพาะกระซู่ที่เป็นสัตว์ป่าสงวนและปัจจุบันสูญพันธุ์จากป่าภูเขียวไปแล้ว นำไปสู่การประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้ปล่อยสัตว์ป่าคืนถิ่นในบริเวณนี้ เช่น เก้ง กวาง กระจง และนกต่างๆ มีการจัดทำดินโป่งบริเวณทุ่งกะมังเพื่อให้สัตว์มากิน และเผาแปลงทุ่งหญ้าเพื่อให้เกิดหญ้าระบัดที่เป็นอาหารของเก้งกวางในช่วงฤดูแล้ง และบนยอดเนินเหนือบริเวณทุ่งกะมังยังเป็นที่ตั้งของพระตำหนักที่ประทับด้วย

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ฟังการบรรยายจากหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว พร้อมร่วมกิจกรรมทำโป่งเทียมเพื่อเป็นแหล่งอาหารเพิ่มแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับสัตว์ป่า โดย 1 โป่ง สัตว์สามารถกินได้ต่อเนื่องประมาณ 3 เดือน จากนั้นได้ร่วมกันปล่อยสัตว์ป่าจากการเพาะพันธุ์ของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าภูเขียวคืนสู่ธรรมชาติ ได้แก่ ไก่ฟ้าพญาลอ ไก่ฟ้าหลังขาว เป็นต้น ต่อด้วย

กิจกรรมเดินศึกษาป่าและสัตว์ป่าธรรมชาติบริเวณทุ่งกะมัง ซึ่งเป็นที่ราบทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ลักษณะคล้ายแอ่งกะละมังอยู่กลางผืนป่า เป็นที่มาของชื่อ ทุ่งกะละมัง หรือ ทุ่งกะมัง ทั้งยังเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของสัตว์ป่านานาชนิด ทำให้สามารถพบเห็นสัตว์ต่างๆ เช่น เนื้อทราย เก้ง กระจง

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวยังเป็นแหล่งดูนกที่แตกต่างจากแหล่งดูนกอื่นๆ ในภาคอีสาน คือมีแหล่งน้ำขนาดต่างๆ กระจายอยู่เกือบทุกพื้นที่ จึงสามารถพบเห็นนกได้หลากหลายประเภท ทั้งนกน้ำ นกทุ่ง และนกป่า รวมถึงนกหายากอย่างเช่น นกกระสาดำ จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งคือสามารถพบเห็นนกป่าได้มากทั้งชนิดและจำนวน เช่น นกกระทาดงอกสีน้ำตาล นกแต้วแล้วใหญ่หัวสีน้ำตาล หลายชนิดมีความสำคัญและถูกจัดให้เป็นนกเฉพาะถิ่นในระดับภูมิภาค ซึ่งมีถิ่นแพร่กระจายพันธุ์อยู่เพียงไม่กี่ประเทศในโลก เช่น ไก่ฟ้าพญาลอ นกโกโรโกโส ซึ่งช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการดูนกคือช่วงฤดูหนาว

ผู้ร่วมกิจกรรมตามรอยพระราชาทุกคนยังได้รับชุดหนังสือภาษาอังกฤษ “King Bhumibol Adulyadej of Thailand” จำนวน 3 เล่ม ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชประวัติพระราชจริยวัตร และพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นำไปถ่ายทอดแก่นักเรียนผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้เยาวชนรุ่นหลังได้รู้จักพระองค์ท่านและสามารถสื่อสารให้ชาวต่างชาติฟังได้ว่า ทำไมคนไทยถึงรักในหลวงรัชกาลที่ 9 ทั้งยังให้ข้อคิดในการใช้ชีวิตเพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เต็มเปี่ยมด้วยคุณธรรม

หลังจากการลงพื้นที่เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติแล้ว คณะครูได้ทำกิจกรรมถอดบทเรียน นำโดยนายอดุลย์ ดาราธรรม นายกสมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย ผ่านเกมกระดานสื่อการเรียนรู้ 3 แบบ ได้แก่ “Game of Our Nation” ที่สอดแทรกคุณธรรม 4 ประการ คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา , “9 ตามรอยนวัตกรรมของพ่อ ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนระดับสากล” ถอดบทเรียนและต่อยอดสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมจากกิจกรรมตามรอยพระราชา และ “The King’s Journey Learn English an Example of an Invention” เรียนรู้ภาษาอังกฤษจากหนังสือชุด King

Bhumibol Adulyadej of Thailand ซึ่งคณะครูอาจารย์สามารถนำนวัตกรรมการเรียนรู้ไปต่อยอดการเรียนการสอนสำหรับเยาวชนต่อไป