ปัจจัยภายนอกที่เคยกระทบ Sentiment การลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกก่อนหน้านี้ อย่าง i) การวิตกกังวลต่อสงครามนิวเคลียร์ (สหรัฐฯเปิดโอกาสคุยกับทางเกาหลีเหนือแล้ว คาดเป็นช่วงเดือน พ.ค.นี้) ii) ความกังวลต่อสงครามการค้า (สหรัฐฯ เปิดโอกาสเจรจาทางการค้า) ผ่อนคลายลงแล้ว ขณะที่ประเด็นเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed เรายังคงมุมมองเดิมว่ามีผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยจำกัด สำหรับปัจจัยในประเทศถือว่ามีพัฒนาการที่ดีขึ้นมากในเรื่องของการเลือกตั้ง ล่าสุด สนช เห็นชอบร่างกฏหมายฯ ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติมีความมั่นใจมากขึ้น อย่างไรก็ดีปัจจัยลบที่ผิดจากที่เราคาดการณ์ไว้ คือ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.พ. ลดลง แต่เราเชื่อว่าเป็นการลดลงระยะสั้นเท่านั้น คาดว่าเป็นผลจากความกังวลต่อค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับภาพรวมดัชนี SET สัปดาห์ที่ผ่านมามีความผันผวนมากกว่าตลาดหุ้นโลก คาดเป็นผลกระทบต่อเนื่องจาก แรงขายทำกำไรหุ้นขนาดใหญ่ (เช่น EA, GULF) และส่งผลให้เกิดการ Panic sell ในหุ้นตัวอื่นๆ (คาดส่วนหนึ่งเป็นผลจากวงเงินมาร์จิ้นที่ลดลงนั่นเอง) ขณะที่ปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ยังเป็นไปตามที่เราประเมินข้างต้น โดยเราประเมินในเชิงปัจจัยพื้นฐานตลาดหุ้นไทยยังแกร่งตามภาวะเศรษฐกิจ ความผันผวนที่เกิดขึ้นคาดเป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น
ประเมินกรอบ SET index สัปดาห์นี้ แนวรับ 1770 จุด และ 1760 จุด / แนวต้าน 1790 จุด และ 1800 จุด แนะนำ “สะสม” หุ้นหลักของแต่ละกลุ่มที่ได้อานิสงส์จากการเติบโตที่โดดเด่นของเศรษฐกิจไทย รวมทั้งอาจพิจารณา เก็งกำไร หุ้นที่ปรับลงแรง ในลักษณะ Panic sell สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ ปัจจัยพื้นฐานไม่เปลี่ยน
หุ้นเด่น: กลุ่มค้าปลีก การบริโภคในประเทศ CPALL, COM7, TOA, เพิ่ม RSP และ GPI (รับเศรษฐกิจไทย และความเชื่อมั่นผู้บริโภค), กลุ่มสื่อ MONO, RS (ผ่านจุดต่ำสุดในปีก่อน), กลุ่มธนาคาร BBL (เศรษฐกิจเติบโต), หุ้นเล็กมีสตอรี่ SPPT, SIMAT (ปีนี้ Turnaround และมีดีลซื้อกิจการ) และหุ้นที่ปรับลงแรงขณะที่ปัจจัยพื้นฐานไม่เปลี่ยน คาดอาจมีแรงรีบาวด์ สัปดาห์นี้ อย่าง EA, ROBINS, ECL (สำหรับหุ้นกลุ่มนี้ ที่เน้นเล่นรีบาวด์ แนะนำกำหนด Stop loss เมื่อขาดทุน >3%)
สุโชติ ถิรวรรณรัตน์
ผู้จัดการฝ่ายวิจัย บล.เคจีไอ(ประเทศไทย)